เทศน์มหาชาติวัดโพธิ์
การเทศน์มหาชาติ ณ วัดโพธิ์นั้นไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ตามที่ปรากฏหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้จัดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ๒ ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๓๔๘ แต่ไม่พบรายละเอียดในจดหมายเหตุ หลักฐานที่พอจะนำมากล่าวได้ในที่นี้ เป็นหลักฐานที่ปรากฏในประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ในพระวิหารทิศพระโลกนาถมุขหลัง ว่าด้วยเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งกล่าวถึงการพระราชกุศลที่ทรงสร้างอันเกี่ยวข้องกับสัตสดกมหาทานในมหาเวสสันดรชาดกความว่า
“เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกรรมพฤกษ์ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตรีภาคีไนยราชและพระนางสนมราชกุญชรอัศดรนาวาฉลากละห้าชั่งสี่ชั่งสองชั่งเป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่ง เงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่งเข้ากันทิ้งทานห้าร้อยหกชั่งคิดทั้งเงินค่าผ้าทรงพระดอกไม้บูชาเลี้ยงพระสงฆ์ กระจาดและโรงฉ้อทานเครื่องไทยทาน”
จะเห็นได้ว่าการพระราชกุศลครั้งนี้สอดคล้องกับการจัดเทศน์มหาชาติครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑ และน่าจะมีเทศน์มหาชาติครั้งนี้ที่วัดพระเชตุพนเป็นการฉลองวัด
ต่อมาครั้งที่ ๒ โปรดให้จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ มีจดหมายเหตุปรากฏเป็นหลักฐานบอกให้ทราบถึงการมีเทศน์มหาชาติ โดยมีรายนามและรายพระนามของพระผู้เทศน์และผู้รับเป็นเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์ไว้ด้วย ดังความในประกาศเรื่องบำเพ็ญพระราชกุศลเทศน์มหาชาติในรัชกาลที่ ๑ ดังนี้
“สมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตรสิทธิบุริโสดมบรม
ราชศรัทธินทรีย์ ศรีศุภธรรมสัมปยุตกุศเลศวิเศษพิศาล โวทานธำรงค์ทรงทศพิธ
ราชธรรมอนันตคุณพิบุลขันติจิรถีติกาล สมณพรหมวิหารมหาบุเรจาริกธรรม
สัมภารา ดิเรกศรัทธามหาศาสนูปถัมภก ยกพระธรรมเตปิฏกาสังคายนาปริยัติ
อัตตนิยาตสรณาคมธเรษ โลกเชฐมกุฏสมมุติเทวา บรมสามิกิศเรศเศวตกุญชร
บวรอัฐทัศคชานาเนก เอกมงคลสากลฤทธิ กฤดิเดชาจลาวณาไสย ในพระพุทธ
การกธรรม คัมภีร์วิสุทธิสยัมพุทธโพธิญาณ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่าน
พิภพ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมมหา
สถาน เสด็จออกพระที่นั่งบุษบก มาลามหาจักรพรรดิพิมาน พร้อมด้วยสมเด็จ
พระอัครราชโอรสาพระภาคิไนยราช สมุหมาตยามนตรีกระวีชาติราชประโรหิต
โหราจารย์เฝ้าพระบาทบงกชมาศ ทรงพระราชจินดามยญาณ จะทรงพระราช
อุทิศอัครมหาบูชาวรามิศวิจิตรอัศจรรย์ แก่พระมหาเวสสันตรชาดก อันเป็น
อัครมหาชาดกเบื้องปลายใกล้พระบรมราชาภิเษกสมโพธิญาณ จึงมีพระราช
บริหารดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งสมเด็จพระอัครราโชรส และสมเด็จพระอัครราช
นัดดา พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวงให้แจกรับปันซึ่งกัณฑ์พระมหาชาติ
นภาลัย)รับกัณฑ์ทศพร สมเด็จพระสังฆราช(สุก) วัดมหาธาตุ สำแดง กับกัณฑ์
นครกัณฑ์ พระพนรัตน์(แก้ว) วัดพระเชตุพน สำแดงเข้ากันเป็น ๒ กัณฑ์
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอไภยธิเบศ รับกัณฑ์ทานกัณฑ์ พระราช
มุนี วัดมหาธาตุ สำแดง
เจดีย์ วัดสุวรรณธาราม สำแดง
เจ้าจอมฝ่ายใน(คุณเสือ) รับกัณฑ์ชูชก พระเทพมุนีวัดสังขจาย สำแดง(๑)
พระราชโอรสพระราชวังบวรสถานพิมุข ๓ พระองค์รับกัณฑ์จุลพน พระองค์เจ้า
ประถมวงศ์ราชโอรสพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่ทรงผนวชอยู่วัดระฆัง สำแดง
พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนสุนทรภูเบศ รับกัณฑ์มหาพน พระมหากลิ่น(๒)
วัดราชสิทธาราม สำแดง
บรรพ พระมหามี วัดระฆัง สำแดง
สุวรรณธาราม สำแดง
ศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓) รับกัณฑ์สักกบรรพ พระญาณสมโพธิ วัดกลาง
สำแดง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(๑) พระเทพมุนี รูปนี้กระมังที่เป็นผู้แต่งมหาชาติกลอนเทศน์กัณฑ์ชูชกที่ว่าสำนวนของสำนักวัดสังข์กระจาย
(๒) พระมหากลิ่น นี้เข้าใจว่า ต่อมาได้เป็นพระราชาคณะที่พระเทพโมลี ผู้แต่งมหาชาติกัณฑ์มหาพน ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสไม่ทรงแต่งมหาชาติกัณฑ์มหาพน เพราะทรงยอมว่าจะแต่งให้ดีกว่าพระเทพโมลี (กลิ่น) ไม่ได้
วัดระฆัง สำแดง
พระเทพโมลี(ด่อน) วัดหงส์ สำแดง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ที่เป็นเอกอัคร
ทานาธิบดี มีอารมณ์ผ่องใสในพระราชกุศลศรัทธาให้อลังการประดับขจิตบรรจง
ต่างๆกัน กระจาดชั้นต้นกว้าง ๕ วา ๕ ชั้น ๗ ชั้นบ้าง ระดับกันขึ้นไปสูง ๗ วาเศษ
มีกระจาดน้อยปากศอกหนึ่ง ต่างทรงจัดสรรเลือกล้วนเหล่าขาทนียะตัณฑุลาปูวา
ผลาหารอันประณีตบรรจงใส่ลงในกระทง เหลือกระจาดกองสุมไว้เป็นอันมาก
แล้วยังผ้าสบงและผ้าขาวเนื้อดีประดับเป็นฉัตรธง และจัดกลีบเป็นดอกมัดตร่ำ
ปักรายรอบกระจาดนับด้วยร้อยเป็นมหาวรามิสบูชา…
ในประกาศข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า พระผู้เทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต(แก้ว) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดพระเชตุพน และตั้งแต่สมเด็จพระวันรัต(แก้ว) เป็นต้นมา กัณฑ์นครกัณฑ์ก็มีพระวัดพระเชตุพนเป็นผู้เทศน์ถวายมาโดยตลอด ทั้งยังถือว่าทำนองกัณฑ์นครกัณฑ์นั้นเป็นทำนองประจำของวัดพระเชตุพนด้วย ดังบทความของณัฐวุฒิ สุทธิสงครามที่กล่าวถึงการเทศน์มหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ไว้ดังนี้
เทศน์มหาชาติ กัณฑ์นครกัณฑ์ ถวายตามธรรมเนียมสืบมาแต่รัชกาลก่อน
ตำนานการถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์นั้น ปรากฏว่าเมื่อครั้งแผ่นดิน
รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพนซึ่งเป็นพระอาจารย์
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตฯ เป็นผู้ถวายเทศน์นครกัณฑ์
ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นการประจำตลอดมาจนสิ้น
รัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระวันรัตมรณภาพแล้ว ปรากฏว่าสมเด็จพระมหาสมณ
เจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้ถวายเทศน์นครกัณฑ์ประจำพระองค์มาตั้งแต่
รัชกาลที่ ๒ ตลอดรัชกาลที่ ๓ มาจนถึงรัชกาลที่ ๔
เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์แล้ว
พระสาธุศีลสังวร(ควน)วัดพระเชตุพนซึ่งเคยเป็นฐานานุกรมของสมเด็จพระมหา
สมณเจ้าพระองค์นั้น ทำนองจะได้ทรงฝึกหัดไว้ จึงได้ถวายเทศน์นครกัณฑ์ประจำ
ตัวต่อมา แต่ในรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระสาธุศีลสังวร(ควน) ถึงมรณ
ภาพแล้ว จะมีผู้ใดอื่นเป็นประจำหรืออย่างไร หาทราบไม่ ปรากฏแต่ว่าพระครู
พจนโกศล(กัน) ซึ่งเดิมเป็นพระครูพุทธรักษกิจ ตำแหน่งเจ้าคณะอยู่เมือง
อ่างทองเป็นนักเทศน์มหาชาติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์โปรด
พระองค์ทรงจำทำนองเทศน์นครกัณฑ์ อย่างของสมเด็จกรมพระปรมานุชิต
ชิโนรสได้ จึงทรงฝึกหัดพระครูพจนโกศล(กัน) แล้วให้เข้ามาถวายเทศน์ก็โปรด
จึงทรงตั้งเป็นพระครูพจนโกศล ให้เข้ามาอยู่วัดพระเชตุพน ต่อมาเมื่อสมเด็จ
เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว พระครูพจนโกศล(กัน) ขอ
พระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขา ดำรัสว่า ทำนองนครกัณฑ์ของ
สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสจะสูญเสีย ให้พระครูพจนโกศล(กัน) หัดศิษย์
ขึ้นไว้แทนก่อนจึงจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาสิกขา พระครูพจน
โกศล(กัน) จึงหัดพระครูไกรสรวิลาศ(ด้วง) วัดพระเชตุพน จนสามารถถวาย
เทศน์นครกัณฑ์ได้จึงลาสิกขา พระครูไกรสรวิลาศ(ด้วง) ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่
พระครูพจนโกศลต่อมา อยู่มาพระครูพจนโกศล(ด้วง) จะลาสิกขาบ้างก็โปรด
ให้หาตัวแทนเสียก่อน ดังเช่นคราวพระครูพจนโกศล(กัน) จะลาสิกขา พระครู
พจนโกศล(ด้วง) จึงได้หัดพระครูอุดมสังวร(รุ่ง) วัดพระเชตุพน ให้ถวายเทศน์
นครกัณฑ์แทนตัวแล้วจึงได้ลาสิกขา แต่ต่อจากนั้นมาจะเป็นอย่างไรไม่อาจจะ
ทราบได้ ทราบแต่ว่าในกาลต่อมาในวัดพระเชตุพนมีพระเทศน์นครกัณฑ์
ทำนองสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้หลายรูป
จากบทความของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เรื่องการเทศน์มหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ของวัดพระเชตุพน ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงหนังสือของกรมราชเลขานุการเมื่อ ร.ศ.๑๒๕ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับงานเทศน์มหาชาติณศาลาการเปรียญของวัดพระเชตุพนเมื่อพ.ศ.๒๔๕๐หรือร.ศ.๑๒๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่แสดงรายนามเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์และถือว่างานนี้เป็นงานใหญ่เช่นกัน พระผู้เทศน์ซึ่งเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนทั้งสิ้น มีรายนามพระผู้เทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์ ได้แก่พระมหาเชย เป็นองค์แสดง ห่างจากเทศน์มหาชาติอีกวันพระหนึ่งก็มีเทศน์สติปัฏฐานและอริยสัจ พระผู้เทศน์ทุกขสัจคือ พระมหาเผื่อน ต่อมาก็คือ สมเด็จพระวันรัต(เผื่อน) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน องค์ที่ ๑๐ ดังหลักฐานจากหนังสือของกระทรวงโยธาธิการ ที่ ๗๘/๕๒๒๑ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ ดังนี้
ผู้เขียนมาอยู่วัดพระเชตุพน กับพระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดี อธิบดีสงฆ์องค์ที่ ๑๓ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความโชคดีของผู้เขียน เนื่องจากพระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดี(สง่า ปภสฺสโร ปธ.๘) อดีตอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน ซึ่งมีชีวิตอยู่มาถึง ๕ แผ่นดินนั้น ท่านรู้เรื่องการเทศน์มหาชาติในวัดพระเชตุพนเป็นอย่างดีท่านเล่าให้ฟังว่าวัดโพธิ์มีเทศน์มหาชาติทุกปีไม่เคยขาด เพราะตัวท่านเองสมัยเมื่อยังหนุ่มก็เป็นพระนักเทศน์มหาชาติอยู่ด้วยรูปหนึ่ง ท่านเทศน์มหาชาติได้หลายกัณฑ์ เช่น กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์นครกัณฑ์ ยามเมื่อพระเดชพระคุณท่านอารมณ์ดี สบายใจวันไหน ท่านก็จะว่าแหล่ในมหาชาติให้ฟัง เสียงของพระเดชพระคุณท่านดีมาก มีพลังและฟังไพเราะ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผู้เขียนก็เป็นพระนักเทศน์มหาชาติเหมือนกัน จึงฟังเป็น ว่าการเทศน์มหาชาติที่ไพเราะนั้นมีลักษณะเสียงเป็นอย่างไร และนอกจากนี้ในขณะที่ท่านแหล่ให้ฟังนั้น ท่านมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเรื่องเทศน์มหาชาติในอดีตท่านก็จะเล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งถือว่าท่านได้สอนผู้เขียนไปในตัวด้วย
การที่ได้นำเรื่องของอดีตอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน มากล่าวแทรกไว้ตรงนี้ ก็เพื่อจะดำเนินเรื่องให้ปะติดปะต่อกันกับเรื่องพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ซึ่งทำนองของกัณฑ์นี้เป็นทำนองเฉพาะของวัดพระเชตุพน ผู้เขียนเข้าใจว่าต่อจากพระครูอุดมสังวร(รุ่ง) ในกัณฑ์นครกัณฑ์นี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระมหาเชย ซึ่งต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณพระวิเชียรกวี(เชย) ถ้านับอายุนับ พ.ศ. อายุของท่านพระมหาเชยน่าจะไล่เลี่ยกับพระเดชพระคุณสมเด็จพระวันรัต(เผื่อน) อธิบดีสงฆ์องค์ที่ ๑๐ เพราะพระมหาเผื่อนหลังจากเทศน์ทุกขสัจคราวนั้นท่านก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณชั้นสามัญในปีนั้น และต่อจากพระพระวิเชียรกวี(เชย)ก็น่าจะเป็นเจ้าคุณพระเทพเมธี (เจีย เขมโก ปธ.๙) ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ของผู้เขียน มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ท่านเจ้าคุณอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า ท่านเจ้าคุณเจีย เป็นพระที่มีความมั่นคง ใครจะมาขอหัดทำนองนครกัณฑ์จากท่าน ถ้าเป็นพระวัดอื่นท่านจะไม่ยอมหัดให้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช(ปลด) ได้ส่งพระมาขอหัดทำนองนครกัณฑ์จากเจ้าคุณเจีย พระรูปนั้นมาอยู่หลายครั้งท่านก็ไม่ยอมหัดให้ ครั้งสุดท้ายท่านก็บอกกับพระที่จะมาหัดเทศน์ทำนองนครกัณฑ์จากท่านว่า ทำนองกัณฑ์นครกัณฑ์นี้เป็นทำนองประจำวัดโพธิ์ ไม่ถ่ายทอดให้กับพระวัดอื่น พระรูปนั้นจึงได้นำความไปเล่าถวายสมเด็จพระสังฆราช(ปลด) เล่ากันว่าพระองค์กริ้วมาก
ท่านเจ้าคุณอาจารย์กับท่านเจ้าคุณเจีย มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างยิ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์จึงจำทำนองของกัณฑ์นครกัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ เพราะฟังท่านเจ้าคุณเจียแหล่อยู่เป็นประจำ และท่านได้นำมาถ่ายทอดให้ผู้เขียนอีกทีหนึ่ง โดยให้ผู้เขียนฟังจากแถบบันทึกเสียงของท่านเจ้าคุณเจีย เสร็จแล้วท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็จะแนะนำให้อีกทีหนึ่ง มีคนสงสัยว่าผู้เขียนมาอยู่กับเจ้าคุณอาจารย์ได้อย่างไรเหตุผลก็เพราะว่าหลานท่านเจ้าคุณเจีย คือ คุณโยมยายเจริญ ตันประยูร(ถึงแก่กรรมแล้ว) ได้นำมาฝากไว้ เจ้าคุณอาจารย์จึงรับผู้เขียนให้อยู่วัดพระเชตุพน ท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี(เจีย เขมโก ปธ.๙) มีลูกศิษย์อยู่รูปหนึ่ง ตอนผู้เขียนมาอยู่วัดพระเชตุพนใหม่ๆ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็แนะนำให้รู้จัก ว่าพระครูภาวนาวิจารย์(มรณภาพแล้ว)เป็นลูกศิษย์เจ้าคุณเจียว่าแหล่กัณฑ์นครกัณฑ์ดี ท่านพระครูภาวนาวิจารย์ได้รับยกย่องจากวงการนักเทศน์ และพระในวัดว่า ว่าทำนองนครกัณฑ์ได้เหมือนเจ้าคุณพระเทพเมธี(เจีย เขมโก ปธ.๙)ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านมาก
จากคำบอกเล่าของเจ้าคุณอาจารย์ว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ วัดพระเชตุพนได้จัดเทศน์มหาชาติใหญ่อีกครั้งหนึ่ง การเทศน์ครั้งนั้นถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะกว่าจะนิมนต์พระเทศน์ให้ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ได้ ต้องเลือกแล้วเลือกอีก พระที่จะมาเทศน์มหชาติในแต่ละกัณฑ์นั้นนอกจากจะเสียงดีและเทศน์เป็นแล้วยังไม่พอต้องมีกิริยามารยาทดีด้วย การจัดเทศน์ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เป็นผู้จัดการและดูแลความเรียบร้อย พระนักเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ องค์ เป็นนักเทศน์มหาชาติคุณภาพทั้งสิ้น ไม่มีรายการคุณขอมาเหมือนปัจจุบันนี้ พระนักเทศน์มหาชาติหนึ่งในนั้นก็มีพระครูภาวนาวิจารย์ศิษย์เจ้าคุณพระเทพเมธี(เจีย เขมโก ปธ.๙)เทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์ด้วย การเทศน์ครั้งนั้นจัดเทศน์ที่ศาลาโพธิ์ลังกาข้างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
ที่ถือว่างานนั้นเป็นงานใหญ่ต้องคัดจัดสรรพระผู้เทศน์เป็นอย่างดี ก็เพราะการเทศน์มหาชาติครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ เมื่อครั้งทรงศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเสด็จมาทรงฟังเทศน์มหาชาติครั้งนั้นด้วย แต่หลักฐานทางเอกสารหาไม่พบ มีแต่คำบอกเล่าของเจ้าคุณอาจารย์เท่านั้น
อีกครั้งหนึ่งที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เล่าให้ฟังว่าเป็นการเทศน์มหาชาติที่ยิ่งใหญ่และไม่มีใครเหมือนเป็นที่ฮือฮาของวงการพระนักเทศน์มหาชาติเป็นอย่างมาก จำ พ.ศ.ไม่ได้ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์จัดให้มีเทศน์มหาชาติซ้อน ๑๓ ธรรมมาสน์ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) วัดอรุณฯ(มรณภาพแล้ว) เป็นประธานหรือเป็นผู้แจกบทในการเทศน์ วัดพระเชตุพนจัดเทศน์มหาชาติครั้งนั้นมีผู้คนสนใจกันมาก และก็น่าจะเป็นครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำได้ เพราะต่อจากนั้นมายังไม่มีวัดไหนจัดได้อีกเลยอย่างมากที่เคยเห็นก็จัดเทศน์ได้แค่หกธรรมมาสน์เท่านั้น ส่วนวัดพระเชตุพนปัจจุบันนี้ก็กลับมาจัดเทศน์มหาชาติแบบเรียงกัณฑ์เหมือนเดิม เพื่อเป็นการรักษาต้นแบบและอนุรักษ์ธรรมเนียมทำนองการเทศน์มหาชาติแบบเก่าไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา
อีกอย่างหนึ่ง วัดพระเชตุพนนี้เป็นที่มาของคัมภีร์ใบลาน ๑๓ ผูก ของเทศน์มหาชาติในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อธิบดีสงฆ์ พระองค์ที่ ๒ ของวัดพระเชตุพน ซึ่งตอนนั้นพระองค์ทรงพระผนวชได้เพียง ๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงแต่งตั้งให้พระองค์เป็นอธิบดีสงฆ์ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์มหาชาติไว้ถึง ๑๑ กัณฑ์ และเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าสำนวนของผู้อื่นแต่งไว้ดีแล้ว พระองค์ก็ยกของพระองค์ออก อันนี้นับว่าพระองค์เป็นปราชญ์โดยแท้ที่ยอมรับความคิดของคนอื่นว่าดีแล้ว ปัจจุบันนี้พระนักเทศน์โดยทั่วไปยังใช้สำนวนที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึง ๗ กัณฑ์ ได้แก่ กัณฑ์ทศพร หิมพานต์ วนปเวศ จุลพน สักกบรรพ ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์ ส่วนกัณฑ์มหาราชนั้น นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หลักสูตร พ.ศ.๒๕๒๔(ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๓๓)ใช้เป็นแบบเรียน โดยเฉพาะในแหล่ที่ ๑๓ ตอนจัดพล มีกลบทอยู่ถึง ๓ กลบทด้วยกันคือ กลบทยัติภังค์ กลบทกบเต้นสลักเพชรและกลบทนาคบริพันธ์ ซึ่งเป็นการใช้ภาษาได้อย่างวิเศษมาก สมแล้วที่องค์การยูเนสโก ยกย่องพระองค์ให้เป็นกวีเอกของโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ ส่วนสำนวนของผู้อื่นที่นักวิชาการนำมาใช้อ้างอิงนั้นส่วนมากก็ยึดพระนิพนธ์ของพระองค์เป็นแนวทางทั้งสิ้นแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของผู้ฟังพระจึงไม่ได้นำมาเป็นแบบเทศน์ ปัจจุบันพระผู้เทศน์ก็มิได้นำบทพระนิพนธ์กัณฑ์มหาราชของพระองค์มาใช้เทศน์แต่อย่างใดอาจเป็นเพราะเทศน์ยากจึงใช้สำนวนของพระยาธรรมปรีชา(บุญ) พระนักเทศน์จะนำเนื้อความตอนต้นมาเทศน์ให้ญาติโยมฟังตั้งแต่แหล่ที่ ๒-๖ เนื้อความนอกนั้นก็ละไว้ ส่วนที่นักเรียนนำไปศึกษาในแบบเรียนนั้นเป็นเนื้อความตอนปลายซึ่งเป็นสำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ส่วนคัมภีร์ใบลานทั้ง ๑๓ ผูกที่พระนักเทศน์มหาชาตินำมาใช้เป็นแบบเทศน์ในปัจจุบันนั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพเมธี (เจีย เขมโก ปธ.๙) เป็นผู้รวบรวมไว้ เมื่อครั้งยังเป็นพระวิสุทธิสมโพธิ์(เจีย เขมโก ปธ.๙) โดยได้ตรวจสอบชำระเป็นอย่างดีแล้ว มอบให้สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์พิมพ์ลงในใบลานสำหรับไว้อ่านเทศน์ ซึ่งใช้เทศน์ได้ทุกกัณฑ์ การคลาดเคลื่อนของเนื้อความมีน้อยมาก ส่วนของคนอื่นเนื้อความจะคลาดเคลื่อนมากและไม่สามารถนำมาเป็นแบบฝึกหัดเทศน์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงขอนำมาเขียนไว้ในที่นี้เพื่อเป็นหลักฐานในการค้นคว้าสืบต่อไป