รสวรรณคดีในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
- รายละเอียด
- หมวด: บทความ
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 06 กันยายน 2556 14:08
- เขียนโดย manop
- ฮิต: 33770
รสวรรณคดี
คัมภีร์สุโพธาลังการและอลังการศาสตร์ แบ่งรสวรรณคดีออกเป็น ๙ รส ได้แก่
๑. รติ (ศฤงคารรส) ยินดี รัก พอใจ
๒. หาสะ (หาสยะรส) ขบขัน หัวเราะ ยิ้ม
๓. โสกะ (กรุณารส) โศกเศร้า ร้องไห้ สงสาร
๔. โกธะ (รุทธรส) โกรธ ไม่พอใจ ขัดเคือง
๕. อุตฺสาหะ (วีรรส) หมั่น บากบั่น กล้าหาญ ในการรบ การให้ และการช่วยเหลือ
๖. ภยะ (ภยานกรส) กลัว หวาดเสียว ขนลุก
๗. ชิคุจฺฉา (พีภัตสรส) เกลียด ขยะแขยง หมั่นไส้
๘. วิมฺหยา (อัพภูตรส) ตื่นเต้น พิศวง ประหลาดใจ หลากใจ
๙. สมะ (ศานติรส) สงบ หยุด
รสวรรณคดีทั้ง ๙ รสนั้นเป็นดังแว่นส่องให้เห็นรสนิยมว่า แม้หนังสือจะมีรสชาติดีสักเพียงใดแต่เมื่อบุคคลผู้อ่านผู้ฟังเข้าไม่ถึงก็จะไม่รู้รส เหมือนอาหารถึงจะมีรสดีเพียงใด ถ้าลิ้นปราศจากความรู้สึกก็ไม่รู้รส ดังที่ท่านผู้รู้ได้ประพันธ์ไว้เป็นคาถาว่า
รติ หาโส จ โสโก จ โกธุสฺสาหภยมฺปิ จ
ชิคุจฺฉา วิมฺหยาเจว สโม จ นว ฐายิโน
๑. ศฤงคารรส หรือรสรัก ตามศัพท์มุ่งหมายเอาความรักระหว่างหนุ่มสาวเป็นจุดใหญ่ เช่น การพรรณนาความสวยงาม ของสตรีหรือบุรุษที่รูปงามเสียงเพราะชวนให้น่ารัก น่ายินดี น่าอภิรมย์ชมชื่น ในกัณฑ์ชูชกตอนชูชกยลโฉมอมิตตดาว่า
โส ชูชโก วันนั้นชูชกเฒ่าชรา ตํ ทิสฺวา เมื่อเห็นรูปเจ้าอมิตตดายุพเยาว์แรกรุ่นสุนทรเด็กดรุณี แน่งน้อยหน้านวลฉวีวรรณเพริศพริ้งพราย ชะชวยฉาดเฉิดฉายโฉมเฉลา ดั่งว่าพฤฒิโคเคาเฒ่าชราจร ครั้นว่าแลเห็นเหยื่อหญ้าอ่อนออกโอชโอษฐ์อ้า ดังนี้เป็นต้น
๒. หาสยรส รสขัน ยิ้มแย้ม หัวเราะครื้นเครง สนุกสนาน สามารถทำให้รู้สึกขัน ยิ้มกับรูปที่เห็น หนังสือที่อ่าน เสียงที่ได้ยิน ทำให้เพลิดเพลินสดชื่น ลืมทุกข์ ดับกลุ้ม บรรเทาโกรธไปชั่วขณะ เช่น นิทานชวนหัวและภาพการ์ตูน ล้วนแต่เป็นเรื่องชวนให้สนุกเพลิดเพลินดับกลุ้มและคลี่คลายความตึงเครียดได้ ในกัณฑ์ชูชกก็เป็นกัณฑ์ที่ตลกขบขันผู้ฟังจะได้รับความรื่นเริงบันเทิงใจมีอารมณ์สนุกสนานไปกับบทบาทของชูชก
๓. กรุณารส รสสงสาร โศก เศร้าใจ ทำให้คนอ่านคนฟังใจเหี่ยวแห้งสลดถึงกับน้ำตาไหล นึกลำบาก เวทนาบุคคลในท้องเรื่องเพราะเห็นความทุกข์ยากก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เช่นในกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ผู้ฟังจะอดใจสงสารไม่ได้ทีเดียวต้องหลั่งน้ำตากันมามากต่อมากแล้ว
๔. รุทธรส รสโกรธ ผิดใจ ไม่พอใจ ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังฉุนเฉียว ขัดใจ เคืองใจในถ้อยคำ ในการกระทำของบุคคลในท้องเรื่องว่าไม่ชอบธรรม ข่มเหง ดูหมิ่นเหยียดหยาม เสียศีลธรรมของสังคม ทนฟังทนดูด้วยความสงบอยู่ไม่ได้ต้องประนามด้วยถ้อยคำอันเผ็ดร้อนออกมาทันทีก็มี รสชาติเช่นนี้หาได้ง่ายมาก ด้วยเราเคยพบเคยเห็นเคยได้ยิน แม้แต่เราก็เคยโกรธเหมือนกัน ในกัณฑ์หิมพานต์ชาวเมืองสีพีก็โกรธพระเวสสันดรถึงขนาดพากันเดินขบวนขับไล่ให้ออกจากเมือง
๕. วีรรส รสกล้า แกล้วกล้า อาจหาญ เอามาใช้เป็นสัญลักษณ์ของนักรบที่ไม่พรั่นพรึงเสียสละชีวิตต่อสู้เพื่อรักษาความเป็นธรรม รักษาเกียรติยศชื่อเสียง เหมือนพระชาลีและพระกัณหาก้าวขึ้นมาจากสระบัว ก็เพราะความกล้าและต้องการรักษาเกียรติยศชื่อเสียง
๖. ภยานกรส รสกลัว สะดุ้ง หวาดเสียวที่เกิดเพราะอ่าน ฟัง รู้เห็นทุกข์โทษของการทำบาป ประพฤติทุจริต กลัวภัยในนรก กลัวโรคติดต่อ กลัวป่า กลัวน้ำท่วม กลัวลมพัด กลัวอดอยาก กลัวภูตผีปีศาจ ค่ำมืดไม่กล้าออกจากเรือน แม้แต่เรือนก็ต้องปิดหน้าต่าง ที่สุดแม้แต่ลมพัดเย็นๆก็ขนลุกต้องหยุดอ่านหนังสือที่พรรณนาไว้น่ากลัว ในกัณฑ์ชูชกตอนพรานเจตบุตรจะยิ่งชูชก ชูชกก็เกิดความสดุ้งกลัวเหมือนกัน
๗. พีภัตสรส รสเกลียด ขยะแขยง ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังชังน้ำหน้าบุคคลที่ได้พรรณนาความชั่วร้ายไว้ต่างๆว่าเป็นคนคดโกง เป็นคนใจจืดใจดำ ไม่มีความเมตตาปรานี เลวทรามต่ำช้า เกิดความเกลียดชังไม่อยากพบเห็นแม้แต่ชื่อก็ไม่อยากได้ยิน เช่นโจรผู้ร้ายในเรื่องต่างๆ บางเรื่องพรรณนาความปฏิกูลของ กเฬวระไว้ทำให้นึกเกลียด สะอิดสะเอียนในศพที่เน่าเปื่อยขึ้นพอง ทำให้คลื่นไส้อาเจียนถึงเบื่อหน่ายแม้ในร่างกายของตนเอง ด้วยคิดเห็นว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นเช่นนั้น ในกัณฑ์กุมาร ตอนชูชกเคี้ยนตีกัณหาชาลีผู้ฟังก็นึกเกลียดชูชก
๘. อัพภูตรส รสตื่นเต้น ประหลาด หลากใจ นึกไม่ถึงว่าจะมีจะเป็นได้ นึกอัศจรรย์ในความสามารถ ในความพยายามของถ้อยคำ ในอุบาย ในศิลปะ ในวิทยาคุณ ในสุปฏิบัติแห่งขันติ เมตตา และกตัญญู และในฌาณสมาบัติซึ่งยากที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ ในกัณฑ์กุมารตอนพระเวสสันดรบำเพ็ญทาน โลกธาตุก็เกิดกัมปนาทหวาดหวั่นไหว เป็นที่อัศจรรย์เป็นยิ่งนัก
๙. ศานติรส รสสงบ เป็นรสสำคัญซึ่งเรื่องทุกเรื่องต้องมี ด้วยเป็นอุดมคติของเรื่องทั้งหลาย เป็นจุดที่มุ่งหมายของทางโลกทางธรรม เพราะเป็นคุณากรให้ประสบสุขที่ไม่มีใครปฏิเสธ ทั้งช่วยสร้างนิสัยผู้อ่านผู้ฟังให้รักสงบด้วยโสดหนึ่ง เช่น เกิดเรื่องเดือดร้อนเพราะโจรผู้ร้าย เรื่องก็จะต้องจบลงได้ด้วยจับโจร ปราบผู้ร้ายได้ เรื่องเดือดร้อนเพราะสงคราม ก็จบลงด้วยสงบสงคราม เรื่องเวสสันดรชาดกในกัณฑ์นครกัณฑ์เรื่องราวต่างๆก็จบลงด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันและมีแต่ความสงบร่มเย็นเพราะทานบารมีของพระเวสสันดรดังนี้เป็นต้น
หนังสือทุกเรื่องที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี จะต้องมีรส ๙ รส ถ้าผู้อ่านไม่รู้สึกออกรสก็แสดงว่าหนังสือนั้นยังไม่ถึงขนาดที่ควรชม เช่นเรื่องพระเวสสันดร ถ้าผู้อ่านผู้ฟังตั้งใจจะลิ้มรสก็จะได้รส สมบูรณ์ครบทั้ง ๙ รส ถ้าท่านที่ยังไม่ได้อ่านจงพยายามอ่านเสีย และถ้าท่านที่อ่านแล้วก็ขอให้พยายามอ่านอีกสักครั้งโดยกำหนดเอารสทั้ง ๙ นี้เป็นมาตรฐาน ตอนใดคำใดออกรสอย่างไร ขอท่านที่รู้สึกออกรสจงเป็นพยานยืนยันคุณของมหาเวสสันดรชาดก น้อมบูชาพระสัมมาสัมโพธิญาณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงพระกรุณาประทานไว้เป็นสมบัติของโลกด้วย
ต่อไปนี้ขอเชิญท่านผู้อ่านพบกับเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก โดยผู้เขียนขอนำเสนอแบบ เล่าความตามแหล่ ในแต่ละกัณฑ์ตอนไหนมีแหล่สำคัญเป็นที่นิยมของผู้ฟังทั้งแหล่นอกแหล่ในผู้เขียนก็ยกมานำเสนอทั้งแหล่นอกและแหล่ในดังต่อไปนี้