คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย ม.๕
- รายละเอียด
- หมวด: บทความ
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 06 กันยายน 2556 14:11
- เขียนโดย manop
- ฮิต: 118044
เอกสารประกอบการสอนวิชาภาษาไทย ม.๕
มหาเวสสันดรชาดก
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องชาดก
ชาดก เป็นคำภาษาบาลีมาจากคำว่า ชาต (ชา–ตะ) = เกิด ก = ผู้ ชาตก แปลว่า ผู้เกิดแล้ว ซึ่งหมายถึงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ที่เกิดเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีต่างๆ เมื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๑ ซึ่งเป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนาอันมีลักษณะเป็นนิทานสุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎกไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิตรวมทั้งคำโต้ตอบในนิทาน ส่วนเรื่องโดยละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา (หนังสือที่แต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง)
คำว่า ชาตก หรือ ชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่างๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย กล่าวอีกอย่างหนึ่งจะถือว่า เรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้ ในอรรถกถาแสดงไว้ด้วยว่าผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง เพราะฉะนั้นสาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้นๆ
ชาดกมี ๒ ประเภท คือ
๑. นิบาตชาดก เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเล่าโดยย่อ มี ๒๒ นิบาตโดยเรียกชื่อตามจำนวนคาถาในนิบาต เช่น
คัมภีร์นิทานคาถาเดียว เรียก เอกนิบาตชาดก
คัมภีร์นิทานสองคาถา เรียก ทุกนิบาตชาดก
คัมภีร์นิทานห้าคาถา เรียก ปัญจกนิบาตชาดก
คัมภีร์นิทานที่เกิน ๘๐ คาถา เรียก มหานิบาตชาดก
มหานิบาตชาดก มีทั้งหมด ๑๐ เรื่อง เช่น เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดกเวสสันดรชาดก
ชาดกที่ปรากฏในนิบาตทั้ง ๒๒ นิบาต มีจำนวน ๕๔๗ ชาดก หรือ ๕๔๗ พระชาติ นิยมเรียกพระเจ้าห้าร้อยชาติ ส่วนมหานิบาตชาดกซึ่งรวบรวมเรื่องสำคัญที่กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ๑๐ พระชาติ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนนิยมเรียกว่าพระเจ้า สิบชาติ หรือ ทศชาติ
อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่าชาดกทั้งหมดมี ๕๕๐ เรื่อง แต่เท่าที่ได้ลองนับดูแล้วปรากฏว่า ในเล่มที่ ๒๗ มี ๕๒๕ เรื่อง, ในเล่มที่ ๒๘ มี ๒๒ เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๕๔๗ เรื่อง ขาดไป ๓ เรื่อง แต่การขาดไปนั้น น่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่าใกล้เคียงมาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดกภาค ๒ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นเล่มที่รวมเรื่องชาดกที่เล็กๆ น้อยๆ รวมกันถึง ๕๒๕ เรื่อง แต่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ นี้มีเพียง ๒๒ เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาวๆ ทั้งนั้น โดย ๑๒ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ ส่วน ๑๐ เรื่องหลัง คือเรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า ทศชาติ
๒. ปัญญาสชาดก เป็นชาดกนอกนิบาต ซึ่งพระภิกษุชาวเชียงใหม่ชื่อพระสิริมังคลาจารย์รวบรวมแต่งเป็นภาษามคธเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ปัญญาสชาดกมีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยหลายเรื่องในด้านการเป็นที่มาของเรื่อง เช่น เสือโคคำฉันท์ สังข์ทอง
ชาดกทุกเรื่องจะมีองค์ประกอบ ๓ ประเภท คือ
๑. ปรารภเรื่อง คือบทนำเรื่องหรือ อุบัติเหตุ จะกล่าวถึงมูลเหตุหรือที่มาของชาดกเรื่องนั้น เช่น มหาเวสสันดรชาดก
๒. อดีตนิทาน หรือชาดก หมายถึงเรื่องราวนิทานที่พระพุทธองค์ตรัสเล่า
๓. ประชุมชาดก ประมวลชาดก เป็นเนื้อความสุดท้ายของชาดกกล่าวถึงบุคคลในชาดก คือผู้ใดที่กลับชาติเป็นใครบ้างในปัจจุบัน
มหานิบาตชาดก – พระเจ้าสิบชาติ (ทศชาติชาดก)
พระชาติที่ ๑ เตมีย์ชาดก
บำเพ็ญเนกขัมมบารมี - เตมียชาดก (เต) เป็นชาติแรกในทศชาติชาดก ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามพระสมณโคดม พระชาตินี้พระองค์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หมายถึง การละทิ้งจากกามคุณทั้ง ๕
พระชาติที่ ๒ ชนกชาดก
บำเพ็ญวิริยบารมี - มหาชนกชาดก (ช) พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขาย เกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง ๗ วัน นางเมขลาเห็นจึงพูดลองใจว่าให้พระองค์ยอมตายเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิม นางเมขลาเห็นเลื่อมใสในความพยายามจึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ วิริยบารมี
พระชาติที่ ๓ สุวรรณสามชาดก
บำเพ็ญเมตตาบารมี - สุวรรณสามชาดก (สุ) พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมฤๅษี ต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งกบิลยักษ์แผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อ และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ เมตตาบารมี[๑]
พระชาติที่ ๔ เนมิราชชาดก
บำเพ็ญอธิษฐานบารมี - เนมิราชชาดก (เน) เป็นพระชาติที่ ๔ ของทศชาติชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช โอรสเจ้าเมืองมิถิลา โปรดการบริจาคทานและรักษาพรหมจรรย์ พระอินทร์ทรงพอพระทัย ถึงกับให้พระมาตุลีนำทิพยรถมารับไปเที่ยวเมืองสวรรค์ และเมืองนรก แล้วเชิญให้ครองเมืองสวรรค์ พระเนมิราชไม่ทรงรับและเสด็จกลับบ้านเมืองของพระองค์ พอทรงชราก็ออกผนวช พระชาตินี้พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ อธิษฐานบารมี
พระชาติที่ ๕ มโหสถชาดก
บำเพ็ญปัญญาบารมี – มโหสถชาดก (ม) มีเรื่องเล่าว่า มโหสถบัณฑิตเป็นที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้ สามารถแนะนำในปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ เอาชนะที่ปรึกษาอื่นๆ ที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดีไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรูและจับราชศัตรูซึ่งเป็นกษัตริย์พระนครอื่นได้.
พระชาติที่ ๖ ภูริทัตชาดก
บำเพ็ญศีลบารมี – ภูริทัตชาดก (ภู) มีเรื่องเล่าว่า ภูริทัตตนาคราชไปจำศีลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ยมุนา. ยอมอดทนให้หมองูจับไปทรมานต่างๆ ทั้งๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูได้ด้วยฤทธิ์ มีใจมั่นต่อศีลของตน ในที่สุดก็ได้อิสรภาพ.
ชาติที่ ๗ จันทชาดก
บำเพ็ญขันติบารมี – จันทชาดก (จ) มีเรื่องเล่าว่า จันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดี ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตาจารย์รับสินบนตัดสินไม่เป็นธรรม ประชาชนก็พากันเลื่อมใสเปล่งสาธุการ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาตในพระราชกุมาร.วันหนึ่งพระเจ้าเอกราชทรงสุบินเห็นดาวดึงสเทวโลก เมื่อตื่นจากบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก ตรัสถามกัณฑหาลพราหมณ์ จึงเป็นโอกาสให้พราหมณ์แก้แค้นด้วยการกราบทูลแนะนำให้ตัดพระเศียรพระโอรส ธิดา เป็นต้น บูชายัญ. พระเจ้าเอกราชเป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส ๔ พระองค์ พระราชธิดา ๔ พระองค์ ไปที่พระลานหลวง เพื่อเตรียมประหารบูชายัญ นอกจากนั้นยังสั่งจับพระมเหสี ๔ พระองค์ และคนอื่นๆ อีก เพื่อเตรียมการประหารเช่นกัน แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่เป็นผล. ร้อนถึงท้าวสักกะ ( พระอินทร์) ต้องมาข่มขู่และชี้แจงให้หายเข้าในผิดว่าวิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ . มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ปุโรหิตนั้นและเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์.
พระชาติที่ ๘ นารทชาดก
บำเพ็ญอุเบกขาบารมี – นารทชาดก (นา) มีเรื่องเล่าว่า พรหมนารทะช่วยเปลื้องพระเจ้า อังคติราชให้กลับจากความเห็นผิด มามีความเห็นชอบตามเดิม ( ความเห็นผิดนั้น เป็นไปในทางว่าสุขทุกข์เกิดเองไม่มีเหตุ คนเราเวียนว่ายตายเกิด หนักเข้าก็บริสุทธิ์ได้เอง ซึ่งเรียกว่าสังสารสุทธิ).
พระชาติที่ ๙ วิทูรชาดก
บำเพ็ญสัจจบารมี – วิทูรชาดก (วิ) มีเรื่องเล่าว่า วิฑูรบัณฑิตซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนักพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเป็นผู้ที่พระราชาและประชาชนรักใคร่เคารพนับถือมาก ครั้งหนึ่งปุณณกยักษ์มาท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะเล่นสกา ถ้าตนแพ้จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้องการ เว้นแต่พระกายของพระองค์ ราชสมบัติ และพระมเหสี ในที่สุดพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลขอตัววิฑูรบัณฑิต พระราชาจะไม่พระราชทานก็เกรงเสียสัตย์ พระองค์ตีราคาวิฑูรบัณฑิตยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการ ต่างๆ แต่ก็ตกลงกันไปไต่ถามให้วิฑูรบัณฑิตตัดสิน วิฑูรบัณฑิตก็ตัดสินให้รักษาสัตย์ คือตนเองยอมไปกับยักษ์ ความจริงยักษ์ต้องการเพียงเพื่อจะนำหัวใจของวิฑูรบัณฑิตไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิฑูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่า ถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิฑูรบัณฑิตมา. แม้ยักษ์จะหาวิธีทำให้ตายก็ไม่ตาย วิฑูรบัณฑิตกลับแสดงสาธุนรธรรม ( ธรรมของคนดี) ให้ยักษ์เลื่อมใสและได้แสดงธรรมแก่พญานาค ในที่สุดก็ได้กลับสู่กรุงอินทปัตถ์ มีการฉลองรับขวัญกันเป็นการใหญ่.
พระชาติที่ ๑๐ เวสสันดรชาดก
บำเพ็ญทานบารมี – เวสสันดรชาดก (เว) มีเรื่องเล่าถึงพระเวสสันดรผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ครั้งหนึ่งประทานช้างเผือกคู่บ้านคู่เมืองแก่พราหมณ์ชาวกาลิงคะ ซึ่งมาขอช้างไปเพื่อให้หายฝนแล้ง แต่ประชาชนโกรธขอให้เนรเทศ พระราชบิดาจึงจำพระทัยเนรเทศ ซึ่งพระนางมัทรีพร้อมด้วยโอรส ธิดาได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อชูชกไปขอสองกุมารก็ประทานอีก ภายหลังพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาทรงไถ่สองกุมารแล้วเสด็จไปรับกลับกรุง. ( เรื่องนี้แสดงการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ คือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันจะเป็นทางให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมได้ดียิ่ง มิใช่เสียสละโดยไม่มีจุดมุ่งหมายหรือเหตุผล).
สำหรับชาติสุดท้าย เป็นชาติที่สำคัญ และบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ คือ เวสสันดรชาดก หรือเรื่องพระเวสสันดร
เพื่อให้จำง่าย - อาจจำว่า “ เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว”
มหาเวสสันดรชาดก เป็นชาดกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร และได้บำเพ็ญบารมีต่างๆ ครบ ๑๐ ประการ บางครั้ง เรียกชาดกเรื่องนี้ว่า มหาชาติ
มหาชาติ หรือเวสสันดรชาดกที่ปรากฏในประเทศไทย
๑. มหาชาติคำหลวง
ไม่ปรากฏผู้แต่ง แต่มีหลักฐานแสดงว่าแต่งเสร็จใน พ.ศ. ๒๐๒๕ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เดิมแต่งเป็นภาษาบาลี เรียกฉันทปัฐยาวัตร มีทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ คาถา จึงมักเรียก คาถาพัน สันนิษฐานว่าแต่งเพื่อให้นักสวดใช้สวดในวันสำคัญทางศาสนา แต่ไม่เหมาะแก่การเทศน์และนิยมใช้สวดถวายพระมหากษัตริย์ จึงเรียกว่า มหาชาติคำหลวง เนื้อหามี ๑๓ กัณฑ์ แต่ต้นฉบับสูญหายไป ๖ กัณฑ์เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์แต่งซ่อมขึ้น ใหม่
ลักษณะการแต่ง คือ ตั้งภาษามคธ ๑ บาท แล้วแปลเป็นกาพย์ไทย ๑ วรรค สลับกันไป คำประพันธ์มีทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย
๒. กาพย์มหาชาติ
แต่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. ๒๑๖๓ เพื่อใช้สำหรับเทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในงานเทศน์มหาชาติ โดยนำเนื้อเรื่องมาจากนิบาตชาดก แบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ แต่ต้นฉบับได้สูญหายไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า คงเหลือเพียง ๒ กัณฑ์ คือ กัณฑ์วนปเวสน์ และกัณฑ์กุมาร
ลักษณะการแต่ง ยกคำศัพท์ภาษาบาลีขึ้นมาตั้งแล้วแปลเป็นภาษาไทยขยายความ โดยใช้ร่ายยาวในการเทศน์ พระนักเทศน์จะสอดแทรกทำนองเพื่อให้มีความไพเราะและชวนฟัง
๓. มหาชาติกลอนเทศน์
แต่งขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีกวีผู้แต่งหลายคน และมีหลายสำนวน โดยยึดเนื้อหาของเวสสันดรชาดกที่ปรากฏในนิบาตชาดก มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พระเทศน์ได้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ภายในวันเดียว
ลักษณะการแต่ง ยกภาษาบาลีทั้งที่เป็นคาถาและอรรถกถาขึ้นมาตั้งแล้วแปลเป็นภาษาไทยด้วยคำประพันธ์ประเภทร่ายยาวต่อกันเป็นตอนๆ
๔. ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
เนื่องจากมหาชาติกลอนเทศน์มีกวีแต่งกันหลายสำนวน ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกต่อๆ กัน ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ กรมศึกษาธิการ ( กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ) จึงได้รวบรวมนักปราชญ์ทั้งหลายให้ช่วยกันคัดเลือกสำนวนที่ดีเด่นที่สุดในแต่ละกัณฑ์จนครบ ๑๓ กัณฑ์ โดยมีจุดมุ่งหมายคือ
๑. เพื่อให้เทศน์ได้จบในวันเดียว
๒. เพื่อให้เข้าใจความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
๓. เพื่อเทศน์คาถาพันให้ได้ครบ
๔. เพื่อใช้เป็นแบบเรียนกวีนิพนธ์
สำนวนที่ได้คัดเลือกมีดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ คาถา - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๒. กัณฑ์หิมพานต์ มี ๑๓๔ คาถา - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ คาถา - สำนักวัดถนน
๔. กัณฑ์วนปเวสน์ มี ๕๗ คาถา – พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่พระใช้เทศน์ในปัจจุบันสำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
๕. กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ คาถา - สำนักวัดสังข์กระจาย
๖. กัณฑ์จุลพน มี ๓๕ คาถา - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ที่พระใช้เทศน์ใน
ปัจจุบันสำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
๗. กัณฑ์มหาพน มี ๘๐ คาถา - พระเทพโมฬี (กลิ่น)
๘. กัณฑ์กุมาร มี ๑๐๑ คาถา - เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๙. กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ คาถา - เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ มี ๔๓ คาถา - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่พระใช้เทศน์ในปัจจุบันสำนวนของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส) ส่วนสำนวนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ได้บันทึกไว้ท้ายบทว่าพระนิพนธ์นี้ไว้สำหรับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง พระเทศน์จึงไม่นิยมนำมาใช้ในการเทศน์
ใน ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ คณะกรรมการหอพระสมุดฯ ก็ได้จัดให้มีการชำระและรวบรวมมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ให้ชื่อว่ามหาชาติฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ๓ กัณฑ์ คือกัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์จุลพน กัณฑ์สักกบรรพ โดยได้นำ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มาแทนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระธรรมกถึกผู้เทศน์มหาชาติ ก็ได้ใช้เทศน์มาจนทุกวันนี้
๑๑. กัณฑ์มหาราช มี ๖๙ คาถา - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สำนวนที่พระใช้เทศน์ในปัจจุบันเป็นสำนวนของ พระยาธรรมปรีชา(บุญ)
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๓๖ คาถา - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์ มี ๔๘ คาถา - สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
การเทศน์มหาชาติ คือการเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ แต่เดิมไม่ได้กำหนดว่ามีในเดือนอะไร ในสมัยรัชกาลที่ ๑ นิยมเทศน์ในเทศกาลออกพรรษาแล้ว ในเดือน ๑๑ ข้างแรม (ตุลาคม) สมัยรัชกาลที่ ๕ นิยมเทศน์ในเดือนอ้าย (ธันวาคม) ปัจจุบันนิยมเทศน์ในเดือนธันวาคม และเดือนมกราคม
การตกแต่งสถานที่ นิยมตกแต่งด้วยต้นไม้ กล้วย อ้อย ราชวัติ ฉัตร ธง และประดับธรรมาสน์ให้แลดูเป็นป่าเหมือนอาศรมของพระเวสสันดรที่เขาวงกต
เครื่องติดกัณฑ์เทศน์ เจ้าของกัณฑ์จะจัดเตรียมเครื่องติดกัณฑ์เทศน์ ประกอบด้วยดอกบัว ธูป เทียน ผลไม้ ส้ม กล้วย มะพร้าว อ้อย อย่างละพันเท่าจำนวนคาถา และเงินบูชากัณฑ์เทศน์ ซึ่งมักถวายเท่ากับจำนวนคาถาประจำกัณฑ์นั้น
พิณพาทย์ ๑ วง สำหรับบรรเลงเพลงประจำกัณฑ์ ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร (๑๙ พระคาถา) เพลงสาธุการ พระนางผุสดีพระมเหสีพระอินทร์ขอพร ๑๐ ประการ
๒. กัณฑ์หิมพานต์ (๑๓๔ พระคาถา) เพลงตวงพระธาตุ โทณพราหมณ์เอาทะนานตวงพระธาตุแจกจ่ายกษัตริย์ เป็นเพลงฉิ่ง บรรเลงโดยใช้ตะโพน กลอง ประกอบจังหวะ จุดเด่นของกัณฑ์อยู่ที่การประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์
๓. ทานกัณฑ์ (๒๐๙ พระคาถา) เพลงพญาโศก พระนางผสุดีเข้าไปกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษก็ไม่โปรดให้ พระนางและพระสนมคร่ำครวญ
๔. กัณฑ์วนประเวศน์ (๕๗ พระคาถา) เพลงพญาเดิน สี่กษัตริย์เสร็จดำเนินไปเขาวงกต
๕. กัณฑ์ชูชก (๗๙ พระคาถา) เพลงเซ่นเหล้า ใช้ประกอบอากัปกิริยากินเลี้ยงและมีการดื่มสุราเมามาย หรืออาการเดินโซเซของภูตผีปีศาจจำพวกเปรต บางทีใช้ค้างคาวกินกล้วย
๖. กัณฑ์จุลพน (๓๕ พระคาถา) เพลงรัวสามลา หรือคุกพาทย์ ใช้ประกอบการแผลงฤทธิ์ หรือการพิลึกพิลั่นต่างๆ
๗. กัณฑ์มหาพน (๘๐ พระคาถา) เพลงเชิดกลอง พระอัจจุตฤๅษีชี้ทางให้ชูชกเดินทาง
๘. กัณฑ์กุมาร (๑๐๑พระคาถา) เพลงโอดสลับกับเชิดฉิ่ง ชูชกเฆี่ยนตี ๒ กุมาร ขณะพา
เดินทาง
๙. กัณฑ์มัทรี (๙๐ พระคาถา) เพลงทยอยโอด พระนางมัทรีตามหาสองกุมารจนสลบลง
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ (๔๓ พระคาถา) เพลงกลม ประกอบการเหาะของพระอินทร์
๑๑. กัณฑ์มหาราช (๖๙ พระคาถา) เพลงกราวนอก การยกทัพของฝ่ายมนุษย์
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ (๓๖ พระคาถา) เพลงตระนอน หกกษัตริย์พบกันทรงพระกันแสงจนสลบไปทั้งหมด
๑๓. นครกัณฑ์ (๔๘ พระคาถา) เพลงทะแยกลองโยน ใช้เปิงมางประกอบจังหวะเป็นเสียง เปิง – พรวด
อิทธิพลความเชื่อเรื่องการฟังเทศน์มหาชาติ มีที่มาจาก
๑. พุทธทำนายเรื่อง อันตรธาน ๕
๒. พระมาลัยสูตร ต่อมาเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ได้ทรงนิพนธ์เป็นพระมาลัยคำหลวง
๓. ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ให้จบภายใน ๑ วัน
มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศน์มหาเวสสันดรชาดก
เนื่องมาจาก ฝนโบกขรพรรษ ซึ่งเป็นฝนที่มีลักษณะพิเศษ คือ
๑. มีสีแดงประดุจน้ำฝน
๒. ต้องการให้เปียกก็ได้ ไม่เปียกก็ได้
๓. น้ำ ฝนไม่ขังอยู่บนพื้นดิน จะไหลลงใต้ดินทันที
เรื่องย่อมหาเวสสันดรชาดก
๑. กัณฑ์ทศพร คัมภีร์ใบลาน ผูกที่ ๑ กัณฑ์ทศพร มี ๑๐ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๘ ตอนหรือ ๘ แหล่ ๑๙ พระคาถา โดยมีเนื้อความโดยสรุป ดังนี้
กล่าวถึงเทศนาอุบัติเหตุเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่พระประยูรญาติ แล้วเกิดฝนโบกขรพรรษตก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระสงฆ์ว่าในอดีตชาติ ได้เคยเกิดฝนโบกขรพรรษตกมาแล้ว พระองค์จึงทรงเล่าเรื่องว่าพระนางผุสดีพระธิดาพระเจ้ากรุงมัทราชผู้ได้พร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ คือ
๑. ขอให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้านครสีพี
๒. ขอให้มีจักษุดำ
๓. ขอให้มีคิ้วดำ
๔. ขอให้มีนามว่าผุสดี
๕. ขอให้มีพระโอรสที่มีเกียรติยศและใฝ่ในทางทาน
๖. เมื่อทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูน
๗. ขอให้มีถันงาม
๘. ขอให้มีเกศาดำสนิท
๙. ขอให้มีผิวงาม
๑๐. ขอให้ทรงอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
๒. กัณฑ์หิมพานต์ คัมภีร์ใบลาน ผูกที่ ๒ กัณฑ์หิมพานต์ มี ๑๘ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๑๔ ตอนหรือ ๑๔ แหล่ ๑๓๔ พระคาถา ดังนี้
พระนางผุสดีได้อภิเษกกับพระเจ้าสญชัยแห่งแคว้นสีพี เมื่อพระครรภ์แก่ได้เสด็จประพาสพระนคร แล้วประสูติพระโอรสที่ตรอกพ่อค้า จึงได้ชื่อว่าเวสสันดร ในวันที่ประสูติ นางช้างฉัททันต์ได้นำลูกช้างเผือกมาไว้ในโรงช้างต้น ประชาชนตั้งชื่อให้ว่า ปัจจัยนาเคนทร์ พระเวสสันดรทรงบริจาคทานอยู่เสมอ เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษาได้อภิเษกกับพระนางมัทรี มีพระโอรสคือพระชาลี และพระธิดาคือพระกัณหา เมืองกลิงคราษฎร์ เกิดแห้งแล้ง พราหมณ์ ๘ คนจึงมาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ พระเวสสันดรก็พระราชทานให้ ทำให้ประชาชนโกรธแค้นและขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมือง
๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ คัมภีร์ใบลาน ผูกที่ ๓ ทานกัณฑ์ มี ๒๕ ใบลาน เป็นสำนวนของสำนักวัดถนน มีทั้งหมด ๑๓ ตอนหรือ ๑๓ แหล่ ๒๐๙ พระคาถา ดังนี้
พระนางผุสดีทราบเรื่องการเนรเทศก็ทรงรำพึงถึงพระเวสสันดรและเสด็จไปยังตำหนักของพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทรงร่ำไห้ปลอบโยนพระลูกรักทั้งสอง แล้วเสด็จไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสญชัยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่พระเวสสันดรแต่ไม่เป็นผล พระเจ้ากรุงสญชัยทรงนิ่งเฉยไม่ตรัสตอบ พระนางผุสดีเสด็จกลับไปยังตำหนักของพระเวสสันดรและคร่ำครวญว่าได้ทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้แล้วแต่ก็ไม่เป็นผล คงเป็นกรรมแต่ปางหลังของพระลูกรักสุดที่พระนางจะช่วยได้ ส่วนพระสนมกำนัลในต่างก็โศกเศร้าซบหน้าร้องไห้ด้วยความอาลัย พระเวสสันดรทรงทำทานครั้งยิ่งใหญ่ด้วยของเจ็ดสิ่งสิ่งละร้อย วันรุ่งขึ้นพระเวสสันดร พระนางมัทรี ชาลีและกัณหาเสด็จไปยังปราสาทของพระเจ้ากรุงสญชัยเพื่อทูลลา พระเจ้ากรุงสญชัยห้ามพระนางมัทรี พระนางมัทรีพรรณนาโทษของหญิงม่าย เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยขอให้พระนางมัทรีอยู่ในวังไม่เป็นผลจึงได้ขอกัณหาและชาลีไว้ แต่พระนางมัทรีก็ไม่ยอม พระนางทูลพระเจ้ากรุงสญชัยว่าขนาดพระโอรสของพระองค์เองทำผิดยังถูกเนรเทศให้ออกจากวัง ส่วนชาลีและกัณหาเป็นเพียงแต่หลานหากทำผิดพระองค์คงจะประหารชีวิตเสียเป็นแน่ แล้วทรงเตือนกัณหาและชาลีให้ทูลลาพระเจ้ากรุงสญชัย พระเจ้ากรุงสญชัยทั้งอาลัยและสงสารพระหลานรักทั้งสองกลัวจะไปตกระกำลำบาก พระเวสสันดรทูลลาพระมารดาด้วยความอาลัย พระนางผุสดีทั้งสงสารและอาลัยรักพร่ำสั่งสอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรีให้ดูแลกันและกันให้ดีในยามทุกข์ยาก
๔. กัณฑ์วนปเวสน์ คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๔ กัณฑ์วนปเวสน์ มี ๑๔ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๙ ตอนหรือ ๙ แหล่ ๕๗ พระคาถา ดังนี้
เมื่อเสด็จมาถึงเมืองของกษัตริย์เจตราษฎร์ พระเวสสันดรได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะเสด็จออกผนวช ณ เขาวงกต กษัตริย์เจตราษฎร์จึงสั่งให้พรานเจตบุตรไปคอยดูแลต้นทางขึ้นเขาวงกตไม่ให้ใครทำอันตรายพระเวสสันดรได้
๕. กัณฑ์ชูชก คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๕ กัณฑ์ชูชก มี ๓๑ ใบลาน เป็นสำนวนของสำนักวัด สังข์กระจาย มีทั้งหมด ๑๗ ตอนหรือ ๑๗ แหล่ ๗๙ พระคาถา ดังนี้
พราหมณ์เฒ่าชื่อ ชูชก มีอาชีพขอทานจนเก็บเงินได้รํ่ารวย ก็นำเงินไปฝากเพื่อนพราหมณ์สองสามีภรรยา แต่เมื่อกลับมาขอรับคืนพราหมณ์สามีภรรยาไม่มีเงินคืนให้ จึงยกนางอมิตดา บุตรสาวให้เป็นภรรยา นางอมิตดาดูแลปรนนิบัติชูชกอย่างดี จนกระทั่งบรรดาพราหมณ์ในหมู่บ้านอิจฉาแล้วไปทุบตีภรรยาตนเองที่ไม่สามารถทำได้เหมือนนางอมิตดา ภรรยาพราหมณ์โกรธแค้น ก็ไปด่าว่านางอมิตดา นางจึงขอร้องให้ชูชกจ้างทาสมาทำงานแทนนาง โดยให้ไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร ชูชกออกเดินทางไปเขาวงกต ถูกสุนัขของพรานเจตบุตรไล่งับจนต้องหนีขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ พรานเจตบุตรจะฆ่าชูชก แต่ชูชกหลอกว่าเป็นราชทูตจากกรุงสีพี
๖. กัณฑ์จุลพน คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๖ กัณฑ์จุลพน มี ๑๑ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๖ ตอนหรือ ๖ แหล่ ๓๕ พระคาถา ดังนี้
กล่าวถึงชูชกเดินทางไปสู่เขาวงกตซึ่งเป็นที่อยู่ของพระเวสสันดรราชฤๅษี เพื่อทูลขอพระชาลี กัณหามาให้เป็นทาสนางอมิตตดา ชูชกได้พบกับพรานเจตบุตรเฝ้าทางอยู่ ชูชกได้ชูกลักพริกกลักขิงว่าเป็นกล่องใส่พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัยให้ไปอัญเชิญพระเวสสันดรกลับไปเสวยพระราชสมบัติ ตัวแกคือราชทูตผู้ถือพระราชสาส์น นายพรานเจตบุตรได้ฟังก็หลงเชื่อ จึงปูผ้าลงกราบและต้อนรับชูชกอย่างสมเกียรติ
๗. กัณฑ์มหาพน. คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๗ กัณฑ์มหาพน มี ๑๗ ใบลาน เป็นสำนวนของพระเทพโมลี (กลิ่น) วัดราชสิทธาราม มีทั้งหมด ๖ ตอนหรือ ๖ แหล่ ๘๐ พระคาถา ดังนี้
กล่าวถึงการเดินทางของชูชกว่า ชูชกเดินทางต่อไปจนถึงอาศรมของพระอจุตฤๅษี และได้หลอกลวงพระอจุตฤๅษีเหมือนกับนายพรานเจตบุตร และได้พักแรมคืนอยู่กับพระอจุตฤๅษี รุ่งเช้าพระฤๅษีจึงพาชูชกไปชี้ทางให้โดยพรรณนาให้ทราบทุกระยะของการเดินทาง เพื่อให้ชูชกไปสู่เขาวงกต
๘. กัณฑ์กุมาร คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๘ กัณฑ์กุมาร มี ๒๘ ใบลาน เป็นสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีทั้งหมด ๒๒ ตอนหรือ ๒๒ แหล่ ๑๐๑ พระคาถา ดังนี้
กล่าวถึงชูชกได้พักรอนแรมไปกระทั่งถึงอาศรมของพระเวสสันดรราชฤๅษี จึงเข้าไปเฝ้าพระเวสสันดรที่อาศรม ในขณะที่พระนางมัทรีเสด็จเข้าป่าเพื่อแสวงหาผลไม้ ชูชกทูลขอสองกุมาร คือชาลี กัณหา จากพระเวสสันดร พระเวสสันดรทรงประทานให้ เมื่อสองกุมารได้ยินพระราชบิดายกให้แก่เฒ่าชูชกจึงเสด็จหนีไปอยู่ในสระบัว เมื่อชูชกไม่เห็นสองกุมารก็ตำหนิพระเวสสันดร พระเวสสันดรจึงเสด็จไปเรียกพระราชโอรสและพระราชธิดาขึ้นมาจากสระบัว โดยทรงเปรียบเทียบสองกุมารเป็นสำเภาทองที่พระองค์จะต้องใช้เสด็จไปสู่พระโพธิญาณ สองกุมารเกิดขัตติยะมานะจึงยอมขึ้นจากสระ พระเวสสันดรทรงคาดค่าไถ่สองกุมารคือ ตัวพระชาลีเป็นทองคำ ๑๐๐๐ ตำลึง ค่าตัว กัณหามากกว่าชาลีเพราะเป็นผู้หญิง คือ โคผู้ โคนม ทาสหญิง ทาสชาย ช้าง ม้า และรถอย่างละ ๑๐๐ และทองคำ ๑๐๐๐ ตำลึง พระเวสสันดรจึงทรงหลั่งพระเต้าทักษิโณทกลงในมือชูชก ประทานสองกุมารให้ชูชกไป ฝ่ายชูชกก็พาสองกุมารเดินทางไปบ้านของตน
๙. กัณฑ์มัทรี คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๙ กัณฑ์มัทรี มี ๒๐ใบลาน เป็นสำนวนของเจ้าพระยา พระคลัง (หน) มีทั้งหมด ๑๓ ตอนหรือ ๑๓ แหล่ ๙๐ พระคาถา ดังนี้
เมื่อชูชกพาสองกุมารไปแล้ว พระอินทร์เกรงว่าถ้าพระนางมัทรีกลับมาแต่กลางวันไม่พบสองกุมารแล้วก็จะเที่ยวติดตามหาสองกุมารและอาจจะติดตามไปทัน พระอินทร์สั่งให้เทวดาทั้ง ๓ องค์ จำแลงกายเป็นเสือโคร่ง เสือเหลือง และราชสีห์มาขวางทางไว้ พระนางมัทรีจึงวางหาบลงและยกมือขึ้นวอนไหว้ขอหนทางต่อสัตว์ทั้งสาม เมื่อเทวดาแปลงทั้งสามได้ฟังคำวิงวอนของพระนางมัทรีแล้วจึงพากันหลีกทางให้ พระนางมัทรีก็รีบกลับมายังอาศรมแต่ไม่พบลูกน้อยทั้งสองก็หลากใจเที่ยวตามหารอบๆ บริเวณอาศรมก็ยังไม่พบจึงเข้าไปถามพระเวสสันดร แม้พระนางมัทรีจะอ้อนวอนสักเท่าใดๆ พระเวสสันดรก็ไม่ยอมตรัสด้วย พระนางมัทรีพยายามอธิบายพร้อมกับทูลขอโทษสักเท่าใดๆ พระเวสสันดรก็นิ่งเสีย ยิ่งทำให้พระนางมัทรีโศกมากยิ่งขึ้น พระนางก็สลบลง พระเวสสันดรตกพระทัยสำคัญว่าพระนางมัทรีตาย จึงยกพระเศียรของพระนางมัทรีมาวางบนตักแต่เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าพระนางยังไม่ตายจึงเข้าไปเอาคนทีน้ำในพระอาศรม วักวารีมาประพรมพระพักตร์และพระอุระของพระมัทรีทำให้พระนางฟื้นคืนมา ถามหาพระลูกรักทั้งสอง พระเวสสันดรก็ตรัสบอกความจริงให้พระมัทรีทราบว่าพระองค์ได้ให้เป็นทานไปแล้วเมื่อวานนี้ ขอให้พระมัทรีจงทำใจให้ผ่องแผ้ว ด้วยพระองค์ทรงหวังพระโพธิญาณจึงได้บริจาคทานพระลูกรักทั้งสองซึ่งอย่าว่าแต่เพียงเท่านี้เลย แม้ใครต้องการเอาเลือดเนื้อหรือเอามีดมาเชือดเฉือนก็จะสละให้ได้เพื่อแลกกับพระโพธิญาณ ขอให้พระมัทรีมีศรัทธาช่วยอนุโมทนาทานครั้งนี้ด้วยเถิด พระนางมัทรีได้ทรงฟังก็ร่วมอนุโมทนาทานบารมีกับพระเวสสันดรด้วย พลันแผ่นดินก็บันดาลเกิดกัมปนาทหวาดไหว เทพยดาเจ้าทั้งหลายต่างก็แซ่ซ้องสาธุการร่วมกับพระนางมัทรี พระนางมัทรีเมื่อร่วมอนุโมทนาทานแล้วก็มีจิตใจผ่องแผ้วเบิกบานใจ เทพเจ้าทั้งหลายก็โปรยปรายดอกไม้ทิพย์ร่วมอนุโมทนาทานด้วย
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๑๐ กัณฑ์สักกบรรพ มี ๑๒ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๑๓ ตอนหรือ ๑๓ แหล่ ๔๓ พระคาถาดังนี้
กล่าวถึงพระเวสสันดรได้ประทาน ๒ กุมารให้แก่ชูชกไป พระอินทร์จึงเกรงว่าจะมีผู้ทูลขอพระนางมัทรีไปแล้วจะทำให้พระเวสสันดรลำบาก จึงแปลงองค์เป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรทรงประทานพระนางมัทรีให้และหลั่งน้ำเป็นสิทธิ์ขาดแก่พราหมณ์เป็นเหตุให้แผ่นดินไหวเป็นอัศจรรย์อนุโมทนาในภริยาทานบารมีของพระเวสสันดร พระนางมัทรียินดีอนุโมทนาในการพระราชทานครั้งนี้เพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จแก่พระสัมโพธิญาณ จากนั้นพราหมณ์ก็ตรัสอำนวยชัยแก่พระเวสสันดรแล้วฝากพระนางมัทรีไว้ขอให้อยู่ปฏิบัติพระเวสสันดรและตรัสบอกว่า ตนมิได้เป็นพราหมณ์เข็ญใจหากเป็นท้าวสักกะแล้วสำแดงตนให้ปรากฏและขอถวายพระพร ๘ ประการแก่พระเวสสันดร พระองค์ทูลรับพระพร ๘ ประการ ดังนี้
พรข้อที่ ๑ ขอให้พระราชบิดามีพระเมตตาเสด็จออกมารับพระองค์กลับไปครองราชย์สมบัติดังเดิม
พรข้อที่ ๒ ขอให้พระองค์ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ถูกจองจำทั้งหมด
พรข้อที่ ๓ ขอให้ได้อนุเคราะห์ราษฎรที่มีความยากจนให้บริบูรณ์ด้วยสรรพโภคสมบัติ
พรข้อที่ ๔ ขอให้มีความสันโดษเฉพาะภรรยาของตนไม่ยินดีกับภรรยาผู้อื่น
พรข้อที่ ๕ ขอให้มีบุตรสืบราชอิสริยยศตระกูลวงศ์มีอายุยืน มีอำนาจและอยู่ในธรรมปฏิบัติ
พรข้อที่ ๖ ในวันรุ่งขึ้นหลังจากพระองค์เสด็จถึงเมือง ขอให้มีภักษาหารเกิดด้วยเทพฤทธิ์พอแก่การบริจาคทาน
พรข้อที่ ๗ ขอให้มีพระทัยเลื่อมใสในการบริจาคทานอยู่เสมอ เมื่อบริจาคทานแล้วขอให้สมบัติในท้องพระคลังอย่ารู้หมดสิ้น
พรข้อที่ ๘ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วขอให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อจุติลงมาเป็นมนุษย์ให้ได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
๑๑. กัณฑ์มหาราช คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๑๑ กัณฑ์มหาราช มี ๒๓ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๑๕ ตอนหรือ ๑๕ แหล่ ๖๙ พระคาถา ดังนี้
กล่าวถึงชูชกพาสองกุมารรอนแรมมากลางป่าโดยมีเทพยดาคอยดูแลมิให้เป็นอันตราย เทพยดาดลใจให้ชูชกนำสองกุมารเดินทางไปยังนครสีพี ชูชกพาสองกุมารผ่านพระลานซึ่งพระเจ้ากรุงสญชัยประทับอยู่ทำให้พระองค์เห็นสองกุมาร พระองค์ได้ตรัสให้อำมาตย์นำตัวชูชกและสองกุมารเข้าเฝ้า ชูชกได้ทูลเล่าเรื่องความจริงให้ทรงทราบ พระเจ้ากรุงสญชัยได้ไถ่ตัวสองกุมารจาก ชูชกและได้พระราชทานเลี้ยงแก่ชูชกด้วย ชูชกอยู่ได้ไม่กี่วันก็ตายด้วยบริโภคอาหารมากเกินไป พระเจ้ากรุงสญชัยได้จัดกองทัพหลวงไปเชิญพระเวสสันดรกลับพระนคร และชาวเมืองกลิงคราษฎร์ได้นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาคืน
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๑๒ กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๑๑ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๖ ตอนหรือ ๖ แหล่ ๓๖พระคาถา ดังนี้
กล่าวถึง ๖ กษัตริย์คือพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดรราชฤๅษี พระนางมัทรีตาปสินี พระชาลี และพระนางแก้วกัณหา ได้มาพบกันที่อาศรมกลางป่าเพราะความที่วิปโยคของ ๖ กษัตริย์นั้นมีมากนัก เมื่อได้พบกันโดยมิได้นึกฝันไว้ก่อนทั้ง ๖ กษัตริย์จึงได้ถึงซึ่งวิสัญญีภาพสลบลงพร้อมทั้งเหล่าพระสนมและข้าราชบริพารต่างก็สลบตามกันไปหมดสิ้น พระอินทร์ทรงทราบเหตุ จึงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา ณ ที่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ และข้าราชบริพารก็ฟื้นจากสลบทันที ทั้งหมดกราบบังคมทูลขออภัยโทษต่อพระเวสสันดรที่กระทำ
๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์ คัมภีร์ใบลานผูกที่ ๑๓ นครกัณฑ์ มี ๑๙ ใบลาน เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งหมด ๑๐ ตอน หรือ ๑๐ แหล่ ๔๘ พระคาถา ดังนี้
ด้วยผลทานผลศีลและพระบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ขององค์พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์เจ้า จึงบันดาลให้ชาวเมืองพากันคิดถึงพระคุณของพระองค์ และได้ยกโยธาไปแห่รับเสด็จให้กลับมาครองราชสมบัติ ครั้นพระเวสสันดรกลับมาครองเมืองก็บังเกิดห่าฝนสัตตรัตน์ คือ สุวรรณ หิรัญ มุกดา มณี ประพาฬ ไพฑูรย์ วิเชียร ตกไปทั่วพระนครเพื่อเป็นทานแก่ราษฎร พระเวสสันดรครองราชสมบัติจนพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา จึงสวรรคตแล้วไปเกิดเป็นสันตุสิตเทพบุตรเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
เนื้อหาเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์นี้ กล่าวถึงสถานที่ต่างๆ ไว้ชัดเจน เช่น มีเมืองอยู่ ๕ เมือง คือ เมืองสีพี เมืองกลิงคราฐ เมืองเจตราฐ เมืองมาตุลนคร และเมืองมัทราช โดยมีเมืองสีพีเป็นเมืองหลักเพราะการดำเนินเรื่องกล่าวถึงเมืองนี้ตั้งแต่ต้นไปจนจบ ส่วนเมือง อีก ๔ เมือง นั้น จัดว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญรองลงมาเพราะบางเมืองตลอดทั้งเรื่องกล่าวถึงเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นเพื่อประกอบการดำเนินเรื่อง เช่น เป็นเมืองที่ใช้กำเนิดตัวละคร เป็นเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในเรื่อง หรือเป็นเมืองที่เสริมเนื้อเรื่องหลักเพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น
นอกเหนือจากสถานที่ที่เป็นบ้านเมืองอันมีพระมหากษัตริย์ ปกครองแล้ว ในเรื่องยังได้กล่าวถึงหมู่บ้านเล็กๆ คือหมู่บ้านทุนวิฐ มีป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์เรียกว่าป่าหิมพานต์และยังกล่าวถึงภูเขาอีก ๕ ลูก ได้แก่ เขาวงกต เขาคันธมาทน์ และเขาอัญชัน เขาตาลบรรพต และเขาวิบูลบรรพต โดยมีเขาวงกตเป็นสถานที่หลักเพราะพระเวสสันดรและพระนางมัทรีต่างก็ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในอาศรมบริเวณหว่างเขานี้
กล่าวถึงชื่อแม่น้ำไว้ถึง ๘ สาย แม่น้ำที่คนฟังรู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือแม่น้ำทั้งห้าสายที่ ชูชกยกมาอุปมาอุปไมยในกัณฑ์กุมารว่า คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ และแม่น้ำโสตุมพราอยู่ในที่แจ้ง กล่าวไว้ในกัณฑ์ทานกัณฑ์ แม่น้ำโกติมารา แม่น้ำเกตุมดีซึ่งกล่าวถึงขณะที่พระเวสสันดรเสด็จผ่านมาในกัณฑ์วนปเวสน์ มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ ๒ สระ คือสระมุจลินท์เป็นสระใหญ่สี่เหลี่ยมมีน้ำเต็มเปี่ยมใสสะอาดตา และสระโบกขรณีซึ่งเป็นสระสี่เหลี่ยมมีน้ำเต็มใสสะอาดตาเช่นกัน
ส่วนตัวละครที่มีบทบาทในเรื่องนั้น มีทั้งหมด ๒๓ ตัวละคร โดยยึดตามตัวละครที่พระพุทธองค์ทรงประมวลชาดกกลับชาติไว้ ที่มีบทบาทมาก ได้แก่ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา หรือที่เรียกว่าหกกษัตริย์
ส่วนตัวละครที่มีบทบาทรองลงมา ได้แก่ ชูชก และนางอมิตตดา ส่วนที่เหลือนอกจากนั้นเป็นเพียงตัวละครประกอบในเรื่อง เช่น นายพรานเจตบุตร พระ อจุตฤๅษี ท้าวสักกะ วิสสุกรรมเทพบุตร แม่ช้างเผือกเรณู (นางช้างอากาศจาริณี) ช้างปัจจัยนาค เทวดาที่แปลงเป็นเสือโคร่ง เสือเหลือง และราชสีห์ นอกจากนั้นก็ยังมีกษัตริย์มัทราช อำมาตย์ที่ทูลข่าวเนรเทศ เสนาอำมาตย์ที่จัดสัตตสดกมหาทาน และสหชาติทั้งหกหมื่น นี่คือตัวละครทั้งหมดที่ปรากฏในเรื่องเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ พระคาถา
มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ข้างต้น มีแหล่เนื้อในรวมทั้งสิ้น ๑๕๒ แหล่ แต่ปัจจุบันมีพระหัดเทศน์กันจริงๆ อยู่ ๕ กัณฑ์ ๗๓ แหล่เท่านั้น คือกัณฑ์ชูชก กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี และกัณฑ์มหาราช ที่เหลือนอกนั้นไม่นิยมหัดเพราะพระนักเทศน์ถือว่าเป็นกัณฑ์ที่ไม่สำคัญ ด้วยเหตุนี้เวลาฟังพระเทศน์มหาชาตินอกจากห้ากัณฑ์ที่กล่าวมาแล้ว ทำนองประจำกัณฑ์ของแต่ละกัณฑ์ที่เหลือจึงหาพระนักเทศน์ที่ถนัดจริงๆ ไม่ได้ อีกประการหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญก็คือ ตามวัดต่างๆ นิยมจัดเทศน์แบบประยุกต์ ๒ ธรรมาสน์บ้าง ๓ ธรรมาสน์บ้าง ไม่ค่อยได้จัดเทศน์เรียงกัณฑ์เหมือนสมัยก่อน หรือถ้าจัดทั้ง ๒๓ กัณฑ์ก็จะนิมนต์พระต่างวัดมาเทศน์เฉพาะ ๕ กัณฑ์ดังที่กล่าวมา ส่วนนอกนั้นใครเทศน์ก็ได้ ทำนองถูกต้องหรือไม่ ไม่ใคร่ได้สนใจ เรียกว่าเทศน์พอเป็นพิธีจึงเป็นเหตุให้พระนักเทศน์ไม่สนใจฝึกหัดเทศน์ให้ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งเพราะแต่ละกัณฑ์ต่างก็มีทำนองประจำกัณฑ์ทั้งสิ้น กัณฑ์นครกัณฑ์นี้ถือได้ว่าพระพุทธองค์ทรงประมวลชาดกที่ เรียกกันว่ากลับชาติไว้ ตัวละครที่แสดงในเรื่องทั้งหมดมีถึง ๒๓ ตัวละคร ตัวละครฝ่ายดีก็คือ ตัวละครฝ่ายที่คอยสนับสนุนพระเวสสันดร ส่วนฝ่ายไม่ดีก็คือ ฝ่ายที่คอยเบียดเบียน เช่น ชูชกและนางอมิตดา ทั้งเมื่อเกิดมาในชาติใหม่ก็ยังเบียดเบียนต่อไปอีก โดยชูชกกลับชาติมาเกิดเป็นพระเทวทัต ส่วนนางอมิตดากลับชาติมาเกิดเป็น นางจิณจมานวิกา สุดท้ายทั้งสองคนก็ถูกแผ่นดินสูบ เป็นการยืนยันให้คนฟังได้เข้าใจว่า ทำดีแล้วย่อมได้ดี ทำชั่วแล้วย่อมได้ชั่ว เหมือนชูชกและนางอมิตดาในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกนี้
ลักษณะคำประพันธ์ ร่ายยาว
๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐
๐ ๐๐ ๐๐ ๐๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐
ร่ายยาว ๑ บท จะมีกี่วรรคก็ได้ แต่ส่วนมากจะมี ๕ วรรคขึ้นไป ๑ วรรคมีจำนวนคำตั้ง แต่ ๖ คำขึ้นไป คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำใดคำหนึ่งในวรรคต่อไป
ตัวอย่าง
ตโย เทวปุตฺตา ส่วนเทพเจ้าทั้งสามองค์ได้ทรงฟังพระเสาวนีย์ พระมัทรีเธอไหว้วอนขอหนทาง พระพักตร์นางนองไปด้วยน้ำพระเนตร เทพเจ้าก็สังเวชในวิญญาณ ก็พากันอุฏฐาการคลาไคลให้มรคาแก่นางพระยามัทรี พอแจ่มแจ้งแสงสีศศิธร นางก็ยกหาบคอนขึ้นใส่บ่า เปลื้องเอาพระภูษามาคาดพระถันให้มั่นคง วิ่งพลางนางทรงกันแสงพลาง ยะเหยาะเหย่าทุกฝีย่างไม่หย่อนหยุด พักหนึ่งก็ถึงที่สุดบริเวณพระอาวาส ที่พระลูกเจ้าเคยประพาสแล่นเล่น ประหลาดแล้วแลไม่เห็นก็ใจหาย ดั่งว่าชีวิตนางจะวางวายลงทันที
----------------------------------------------------------
แบบฝึกหัด
๑. นักวรรณคดีสันนิษฐานว่า การแปลมหาเวสสันดรชาดกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยใด
๑. สมัยสุโขทัย ๒. สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
๓. สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ๔. สมัยกรุงธนบุรี
๒. ข้อใดคือมหาชาติสำนวนเก่าที่สุด
๑. มหาชาติกลอนเทศน์ ๒. กาพย์มหาชาติ
๓. มหาชาติคำฉันท์ ๔. มหาชาติคำหลวง
๓. พระพุทธเจ้าทรงเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ณ สถานที่ใด
๑. ท้องพระโรง กรุงกบิลพัสดุ์ ๒. วิหารพระเชตวัน
๓. นิโครธารามมหาวิหาร ๔. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
๔. พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมข้อใดแก่พระสงฆ์หลังจากที่ทรงเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกจบแล้ว
๑. อิทธิบาท ๔ ๒. สังคหวัตถุ ๔
๓. อริยสัจ ๔ ๔. พรหมวิหาร ๔
๕. “เป็นบทนำเรื่องของแต่ละกัณฑ์ แต่งเป็นภาษาบาลี สรุปให้รู้ว่ากัณฑ์ในเบื้องต้นกล่าวถึงเรื่องอะไร”
ข้อความข้างต้นนี้เป็นคำอธิบายของข้อใด
๑. จุณณียบท ๒. คาถา
๓. ปัฐยาวัตฉันท์ ๔. บทประณามพจน์
๖. ข้อใดทั้งสองคำมิได้อยู่ในทศบารมี
๑. ศีล ขันติ ๒. กตัญญุตา กรุณา
๓. วิริยะ สัจจะ ๔. อุเบกขา วิมังสา
๗. ข้อใดมิใช่ลักษณะของฝนโบกขรพรรษ
๑. เป็นน้ำสีแดง ใส บริสุทธิ์
๒. เมื่อตกถึงพื้นดินจะซึมหายอย่างรวดเร็ว
๓. จะปรากฏให้เห็นเฉพาะผู้มีใจใฝ่ทางธรรม
๔. จะเปียกหรือไม่เปียกผู้ใดแล้วแต่ใจปรารถนา
๘. เรื่องราวของฝนโบกขรพรรษ มีปรากฏในกัณฑ์ใด
๑. ทานกัณฑ์ ๒. ฉกษัตริย์
๓. ทศพร ๔. กุมาร
๙. มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดใด
๑. ร่ายโบราณ ๒. ร่ายยาว
๓. ร่ายสุภาพ ๔. ลิลิต
๑๐. ข้อใดเป็นคำอธิบายความหมายของคำว่า “ชาดก”
๑. เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ
๒. เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมี
๓. เป็นเรื่องราวของผู้ที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า
๔. เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๑๑. การเทศน์มหาชาตินิยมจัดขึ้นในเวลาใด
๑. ระหว่างเดือน ๑๒ กับเดือนอ้าย ๒. ระหว่างเดือนอ้ายกับเดือนยี่
๓. วันเพ็ญเดือน ๖ ๔. วันเพ็ญเดือน ๑๒
๑๒. เหตุใดพุทธศาสนิกชนจึงนิยมฟังเทศน์มหาชาติ
๑. จะได้บุญมากทำให้ขึ้นสวรรค์ ๒. จะได้เกิดอานิสงส์และได้พบพระศรีอาริย์
๓. เป็นเทศน์ที่มีความไพเราะมาก ๔. เนื้อเรื่องสนุกสนานและฟังง่าย
๑๓. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้อง
๑. กัณฑ์มัทรีมี ๙๐ คาถา
๒. กัณฑ์มัทรีเป็นกัณฑ์ที่ ๘
๓. เพลงประจำบทกัณฑ์มัทรีคือเพลงโอด
๔. กัณฑ์มัทรีเน้นความรักของแม่ที่มีต่อลูก
๑๔. การกลับชาติมาเกิดในข้อใดไม่ถูกต้อง
๑. พระเวสสันดร เป็น เจ้าชายสิทธัตถะ ๒. พระนางมัทรี เป็น พระนางยโสธราพิมพา
๓. พระชาลี เป็น พระราหุลชิโนรส ๔. พระกัณหา เป็น นางสุชาดา
๑๕. บารมีข้อใดเป็นบารมีสูงสุด
๑. ปัญญาบารมี ๒. ศีลบารมี
๓. อุเบกขาบารมี ๔. บุตรทานบารมี
๑๖. ข้อใดกล่าวถึงเรื่องมหาเวสสันดรชาดกไม่ถูกต้อง
๑. พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญเบญจมหาบริจาค
๒. พระเวสสันดรทรงบริจาคบุตรทานบารมีในกัณฑ์มัทรี
๓. มหาเวสสันดรชาดกเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายของทศชาติ
๔. ทศชาดก คือ เรื่องราวของพระพุทธเจ้าตอนเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในทศชาติ
๑๗. มหาชาติฉบับใดใช้สวดในงานพระราชพิธี
๑. มหาชาติคำหลวง ๒. มหาชาติกลอนเทศน์
๓. กาพย์มหาชาติ ๔. ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
๑๙. เทศน์คาถาพันหมายถึงเทศน์เรื่องใด
๑. มโหสถชาดก ๒. สุวรรณสามชาดก
๓. เวสสันดรชาดก ๔. เนมิราชชาดก
๒๐. ข้อใดคือมหาเวสสันดรชาดกฉบับผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง ( หน )
๑. กัณฑ์ทศพร กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒. กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี
๓. กัณฑ์มัทรี กัณฑ์ชูชก ๔. กัณฑ์มหาพน กัณฑ์จุลพน
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
ผู้แต่ง เจ้าพระยาพระคลัง ( หน )
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นกวีเอกในสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบุตรของเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦๅไชย กับท่านผู้หญิงเจริญ เข้ารับราชการในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาพระคลัง ผลงานของท่าน ได้แก่ ลิลิตเพชรมงกุฎ อิเหนาคำฉันท์ ราชาธิราช สามก๊ก กากีคำกลอน สมบัติอมรินทร์คำกลอน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘
ลักษณะคำประพันธ์ ร่ายยาว มีคาถาภาษาบาลีนำ
ที่มาของเรื่อง ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
แต่งเพื่อใช้เทศน์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการชำระร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกโดยคัดเลือกฉบับที่มีสำนวนดีที่สุด ซึ่งผลงานของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ได้รับเลือกให้รวมไว้ในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ฉบับที่วรรณคดีสโมสรยกย่องว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทร่ายยาว
เวลาแต่ง พ.ศ. ๒๔๔๙
เนื้อเรื่องย่อ
กัณฑ์มัทรีเป็นกัณฑ์ที่ ๙ เนื้อความกล่าวถึงพระนางมัทรีเสด็จเข้าป่าเพื่อหาผลไม้มาปรนนิบัติพระเวสสันดรและสองกุมาร แต่เกิดเหตุการณ์วิปริตต่างๆ และมีสัตว์ดุร้าย ได้แก่ เสือโคร่ง เสือเหลือง และราชสีห์มาขวางทางเดิน ซึ่งสัตว์ทั้งสามคือเทวดามาขัดขวางเพื่อมิให้พระนางกลับไปถึงอาศรมได้ทันที่ชูชกจะนำสองกุมารไป เมื่อพระนางมาถึงอาศรมในตอนพลบคํ่า ไม่พบสองกุมาร ก็ออกติดตามหา ทูลถามพระเวสสันดร พระองค์ก็แสร้งบริภาษเพราะเกรงว่าถ้าพระนางทราบความจริงในขณะที่กำลังเหนื่อยล้าและเสียพระทัยมากเช่นนี้ อาจจะตกพระทัยถึงสิ้นพระชนม์ พระนางมัทรีกลับเข้าป่าไปตามหาสองกุมารอีกจนรุ่งเช้า เมื่อกลับมาถึงอาศรมพระเวสสันดรก็ถึงแก่วิสัญญีภาพ พระเวสสันดรทรงแก้ไขให้พระนางฟื้นแล้วเล่าความจริงว่าได้พระราชทานสองกุมารแก่ชูชกแล้ว พระนางมัทรีก็ทรงอนุโมทนาด้วย พระอินทร์และเทวดาก็แซ่ซ้องสาธุการอนุโมทนาทานนั้น
แนวคิด ความรักของแม่ที่มีต่อลูก แม่ย่อมยอมสละชีวิตได้เพื่อลูก
ข้อคิด ๑. ความเสียสละเป็นคุณธรรมที่ควรแก่การยกย่อง
๒. การบริจาคทานเป็นการกระทำที่สมควรแก่การอนุโมทนา
๓. การให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการให้ด้วยความศรัทธาที่ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากวัฏสงสาร
๔. ภรรยาที่ดีควรเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของสามี
คุณค่า
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีได้รับการยกย่องให้เป็นฉบับที่ดีเยี่ยมในร่ายยาวทั้งหลาย
คุณค่าด้านวรรณศิลป์
๑. มีความไพเราะ
พอประจวบจวนพญาพาฬมฤคราช สะดุ้งพระทัยไหวหวาดวะหวีดวิ่งวนแวะเข้าข้างทางพระทรวงนางสั่นระรัวริกเต้นดั่งตีปลา ทรงพระกันแสงโศกาไห้พิไรรํ่า ว่ากรรมเอ๋ยกรรม กรรมของมัทรี
๒. มีการเล่นคำ
แต่แม่เที่ยวเซซังเสาะแสวงทุกแห่งห้องหิมเวศทั่วประทศทุกราวป่า สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด
๓. มีการเล่นอักษร
เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร แถวโน้นก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ถัดนั่นก็สายหยุดประยงค์และยมโดย พระพายพัดก็ร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง
๔. มีการใช้โวหารภาพพจน์
โวหารสัทพจน์
ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย โหยสำเนียงดังเสียงสังคีตขับประโคมไพรแต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงพระลูกแก้วเจ้าบ่นอยู่งึมๆ พุ่มไม้ครึ้ม เป็นเงาๆ ชะโงกเงื้อม พระเนตรเธอลายเลื่อมเห็นเป็นรูปคนตะคุ่มๆ อยู่คล้า ๆ แล้วหายไป สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนกู่กู๋ก้อง
โวหารอุปมา
นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัย ดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทน อุปมาเหมือนคนไข้หนักแล้วมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนา เห็นชีวานี้คงจะไม่รอดไปสักกี่วัน
บทวิเคราะห์
๑. ความรักและความห่วงใยของพระนางมัทรีที่มีต่อพระชาลีและพระกัณหา
๑.๑ พระนางมัทรีเข้าป่าไปหาผลไม้ พบเหตุวิปริตรวมทั้งความฝันเมื่อคืน จึงทำให้พระนางประหวั่นพรั่นพรึงและทุกข์โศก เกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายกับสองกุมาร
“พระทัยนางให้หวั่นหวาดพะวงหลัง ตั้งพระทัยเป็นทุกข์ถึงพระเจ้าลูกมิลืมเลย เดินพลางทางเสวยพระโศกพลาง”
๑.๒ พระนางมัทรีเลี้ยงดูสองกุมารด้วยความใกล้ชิด ทรงจดจำทุกอย่างเกี่ยวกับสองกุมารได้ทั้งหมด
“นั่นก็รอยเท้าพ่อชาลี นี่ก็บทศรีแม่กัณหา พระมารดายังแลเห็น โน่นก็กรวดทรายเจ้ายังรายเล่นเป็นกองๆ สิ่งของทั้งหลายเป็นเครื่องเล่นยังเห็นอยู่”
๑.๓ พระนางมัทรีทรงทุ่มเทกำลังกายกำลังใจและกำลังสติปัญญาออกติดตามหาลูกจนหมดสิ้นทุกอย่างแล้ว
“สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด”
๑.๔ พระนางมัทรีทรงเป็นห่วงลูกทุกเวลานาที ทันทีที่ฟื้นสติก็ทรงถามพระเวสสันดรถึงลูก
“พระลูกรักทั้งสองราไปอยู่ไหนนะฝ่าพระบาท”
๒. ความภักดีที่พระนางมัทรีมีต่อพระเวสสันดร
๒.๑ พระนางมัทรียืนยันความจงรักภักดีที่มีต่อพระเวสสันดร แม้จะถูกพระเวสสันดรแกล้งบริภาษ
“พระคุณเอ่ยจะคิดดูมั่งเป็นไรเล่า ว่ามัทรีนีเป็นข้าเก่าแต่ก่อนมา ดั่งเงาตามพระบาทาก็เหมือนกัน”
๒.๒ เมื่อถูกพระเวสสันดรต่อว่า พระนางมัทรีทรงครํ่าครวญว่าไม่เคยปันใจให้ใคร แต่พระเวสสันดรยังหมางเมิน พระนางจึงไม่อยากมีชีวิตต่อไป
“อนิจจาเอ่ยวาสนามัทรีไม่สมคะเนแล้ว พระทูลกระหม่อมแก้วจึ่งชิงชังไม่พูดจา ทั้งลูกรักดังแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปใยให้ทนเวทนา”
๒.๓ พระนางมัทรีทรงเชื่อฟังและอนุโมทนาในปิยบุตรทานบารมีที่พระเวสสันดรบริจาค
“พระพุทธเจ้าข้าอันสองกุมารนี้ กระหม่อมฉานได้อุตสาหะถนอม ย่อมพยาบาลบำรุงมา ขออนุโมทนาด้วยปิยบุตรทานบารมี”
๓. ธรรมชาติกับความทุกข์โศกของพระนางมัทรี
๓.๑ ยามเกิดเรื่องร้ายแรง ธรรมชาติมีส่วนสำคัญในการแจ้งเหตุร้ายแก่พระนางมัทรีด้วยสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร แถวโน้นก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ................ ก็เพี้ยนผิดพิสดารเป็นพวงผล ผิดวิกลแต่ก่อนมา”
๓.๒ ลักษณะธรรมชาติที่มีอารมณ์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระนางมัทรี
“ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆระเรื่อยโรย โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอเหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก”
๓.๓ พระนางมัทรีทรงตัดพ้อต่อว่าธรรมชาติ ที่แปรเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น เหมือนเป็นลางว่าจะเกิดเหตุร้ายแก่ลูก
“จึ่งตรัสว่าน้ำเอ๋ยเคยมาเปี่ยมขอบเป็นไรจึ่งขอดข้นลงขุ่นหมอง พระพายเจ้าเอ๋ยเคยมาพัดต้องกลีบอุบล พากลิ่นสุคนธ์ขจรรสมารวยรื่น เป็นไรจึ่งเสื่อมหอมหายชื่นไม่เฉื่อยฉํ่า”
.........................................................................................................
แบบทดสอบ
๑.กัณฑ์มัทรีเป็นกัณฑ์ที่เท่าใดในเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
๑. กัณฑ์ที่ ๘ ๒. กัณฑ์ที่ ๙ ๓. กัณฑ์ที่ ๑๐ ๔. กัณฑ์ที่ ๑๑
๒. เพลงประจำกัณฑ์มัทรีคือเพลงอะไร
๑. เพลงทยอยโอด ๒. เพลงกราวนอก
๓. เพลงโอดเชิดฉิ่ง ๔. เพลงพญาโศก
๓. ข้อใดกล่าวถึงผู้แต่งเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรไม่ถูกต้อง
๑. บรรดาศักดิ์แรกคือหลวงสรวิชิต
๒. รับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๓. บรรดาศักดิ์สูงสุดคือ เจ้าพระยาพระคลัง
๔. มีนามจริงว่า หน
๔. ผลงานเรื่องใดของผู้แต่งร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร
๑. อิเหนาคำฉันท์ ๒. กากีคำกลอน
๓. สามก๊ก ๔. สมบัติอมรินทร์คำกลอน
๕. ตัวละครในข้อใดไม่มีชื่อปรากฏในกัณฑ์มัทรี
๑. พระกัณหา ๒. พระเวสสันดร
๓. พญาพาฬมฤคราช ๔. พระเจ้าสญชัย
๖. ปมปัญหาสำคัญในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีคืออะไร
๑. เทพยดาแปลงเป็นพญาเสือโคร่งมาขวางหน้าพระนางมัทรีไว้
๒. พระเวสสันดรทรงยกสองกุมารให้ชูชกไปแล้ว
๓. พระเวสสันดรทรงบริภาษพระนางมัทรีอย่างเสียหาย
๔. พระนางมัทรีทรงตามหาสองกุมารตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า
๗. พระเวสสันดรทรงใช้อุบายใดที่ทำให้พระนางมัทรี “ความโศกเสื่อมสว่างสงบจิต”
๑. ไม่ตอบคำถาม ๒. แสดงความเกรี้ยวกราด
๓. แสดงอาการหึงหวง ๔. แสดงอาการครํ่าครวญ
๘. พระนางมัทรีเมื่อได้ฟังคำบริภาษของพระเวสสันดร ความโศกก็หายไป เพราะเหตุใด
๑. โกรธ ๒. เสียใจ ๓. เจ็บใจ ๔. กลัว
๙. “เอ๊ะประหลาดหลากแล้วมิเคยเลย โอ้อกเอ๋ยช่างอัศจรรย์จริง ยิ่งคิดยิ่งกริ่งๆ ตรอมพระทัยเป็นทุกข์ถึงพระลูกรักทั้งสององค์”
ข้อใดมิใช่อัศจรรย์ตามเนื้อความข้างต้น
๑. ขอบฟ้าดาษแดงเป็นสายเลือด ๒. หนทางใกล้กลายเป็นไกลสุดสายตา
๓. ไม้ดอกกลายเป็นไม้ผล ๔. สาแหรกและไม้คานพลัดหลุดจากไหล่
๑๐. สถานที่ใดที่พระนางมัทรีไม่ได้ไปตามหาสองกุมาร
๑. ป่าเขา ๒. ถ้ำ ๓. ลำธาร ๔. ใต้ต้นโพ
๑๑. “ดูกรสงฆ์ผู้ทรงศีลวิสุทธิสิกขา เมื่อสมเด็จพระนางมัทรีเธอได้สมปฤๅดีคืนมา นางพระยาเจ้า
ละอายแก่เทพดานัก”
ข้อใดคือเหตุผลที่ทำให้พระนางมัทรีละอายแก่เทพดา
๑. ที่ทรงโศกเศร้าหนักจนถึงแก่วิสัญญีภาพ
๒. ที่ความอาลัยรักพระลูกนั้นเกินควร
๓. ด้วยเห็นว่านอนอยู่บนตักพระราชฤๅษีมิบังควร
๔. พระสามีก็มิได้ตรัสปรานีแต่สักนิดสักหน่อยหนึ่ง
๑๒. ข้อใดมิใช่พญาพาฬมฤคราช
๑. พญาไกรสรราชสีห์ ๒. พญาเสือเหลือง
๓. พญาเสือโคร่ง ๔. พญาเสือดำ
๑๓. เหตุใดพระเวสสันดรจึงไม่ตรัสบอกความจริงแก่พระนางมัทรีเสียตั้งแต่แรก
๑. เพราะเกรงว่าพระนางมัทรีจะตามลูกทัน
๒. เพราะเกรงว่าพระนางมัทรีจะเสียใจจนตาย
๓. เพราะเกรงว่าพระนางมัทรีจะแค้นใจจนตาย
๔. เพราะเกรงว่าพระนางมัทรีจะรับความจริงไม่ได้
๑๔. “นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัย ดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทน อุปมาเหมือน
คนไข้หนักแล้วมิหนำ ยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนา”
ข้อใดเป็นสาเหตุของคำประพันธ์นี้
๑. ครั้นลูกหายทั้งสองคนก็สิ้นคิด
๒. ทำเป็นบีบน้ำตาว่าลูกหาย
๓. ท้าวเธอก็ขังขึงตึงพระองค์
๔. เจ้าเป็นแต่เพียงเมียควรหรือมาหมิ่นได้
๑๕. “ทั้งพวงแก้วและพวงทองก็โรยร่วงจากกลีบเมฆกระทำสักการบูชา แก่สมเด็จนางพระยามัทรี”
คำประพันธ์ที่ยกมานี้พระนางมัทรีได้รับการสักการะในเรื่องใด
๑. ความซื่อสัตย์ต่อสามี ๒. การอนุโมทนาในทานของพระเวสสันดร
๓. ความรักลูก ๔. ความเมตตาสงสาร
๑๖. “แถวโน้นก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ถัดไปก็สายหยุดประยงค์และยมโดย ยามพระพายพัดเคยร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง”
คำประพันธ์นี้กล่าวถึงไม้ดอกกี่ชนิด
๑. ๖ ชนิด ๒. ๗ ชนิด ๓. ๘ ชนิด ๔. ๙ ชนิด
๑๗. “รัศมีพระจันทร์ก็มัวหมอง เหมือนเศร้าโศกแสนวิโยคเมื่อยามปัจจุสมัย”
คำที่ขีดเส้นใต้หมายถึงเวลาใด
๑. เวลารุ่งเช้า ๒. เวลากลางวัน
๓. เวลายํ่าคํ่า ๔. เวลากลางคืน
๑๘. “ขอพระองค์จงเปรมปรีดิ์ปราศจากมัจฉริยธรรมอกุศล”
คำที่ขีดเส้นใต้หมายถึงอะไร
๑. ความห่วงใย ๒. ความวิตกกังวล
๓. ความตระหนี่ ๔. ความเสียดาย
๑๙. “เทพเจ้าก็สังเวชในวิญญาณ จึงพากันอุฏฐาการคลาไคลให้มรรคา”
คำที่ขีดเส้นใต้หมายถึงอะไร
๑. หลีกทาง ๒. ลุกขึ้น ๓. ขยับตัว ๔. พยักหน้า
๒๐. ข้อใดคือความหมายของคำว่า “วิสญญี หุตวา”
๑. สิ้นสติ ๒. สิ้นลมหายใจ
๓. สิ้นชีวิต ๔. สิ้นเรี่ยวแรง
๒๑. “ สัตพิธรัตน์” หมายถึงแก้วกี่ประการ อะไรบ้าง
๑. ห้าประการ ได้แก่ เพชร ทอง นาก เงิน ทับทิม
๒. หกประการ ได้แก่ เพชร ทอง เงิน ทับทิม ไพฑูรย์ มุกดา
๓. เจ็ดประการ ได้แก่ เพชร ทอง เงิน ทับทิม ไพฑูรย์ มุกดา แก้วประพาฬ
๔. แปดประการ ได้แก่ เพชร ทอง เงิน นาก ทับทิม ไพฑูรย์ มุกดา แก้วประพาฬ
๒๒. “กเลวระร่าง” หมายถึงข้อใด
๑. คนเลว ๒. ซากศพ ๓. คนเสียสติ ๔. คนชั่วร้าย
๒๓. ข้อใดมีการบรรยายความที่ให้อารมณ์ความรู้สึกต่างจากข้ออื่น
๑. เจ้าเคยเคียงเรียงหมอนนอนแนบข้างทุกราตรี แต่นี้แม่จะกล่อมใครให้นินทา
๒. แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองรา กลิ่นยังจับนาสาอยู่รวยรื่น
๓. เจ้ารักเดินด้วยแสงเดือนชมดาวพลาง ได้น้ำค้างกลางคืนชื่นอารมณ์สมคะเน พอมาถึงก็
ทำเสขึ้น เสียงเลี่ยงเลี้ยวพาโลว่าลูกหาย
๔. หรือว่าเจ้าทิ้งขว้างวางจิตไปเกิดอื่น เหมือนแม่ฝันเมื่อคืนนี้แล้วแล
๒๔. “น้ำเอ๋ยเคยมาเปี่ยมขอบเป็นไรจึ่งขอดข้นลงขุ่นหมอง พระพายเจ้าเอ่ยเคยมาพัดต้องกลีบอุบลพากลิ่นสุคนธ์ขจรรสมารวยรื่น เป็นไรจึ่งเสื่อมหอมหายชื่นไม่เฉื่อยฉ่ำ”
คำประพันธ์ที่ยกมานี้มีน้ำเสียง เป็นอย่างไร
๑. ตัดพ้อ ๒. บ่นพึมพำ
๓. ครํ่าครวญ ๔. ออดอ้อน
๒๕. ข้อใดแสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกที่เศร้าสะเทือนใจของพระนางมัทรีมากที่สุด
๑. สองพระกรข้อนทรวงทรงพระกันแสงครวญคร่ำแล้วรำพันว่า โอ้เจ้าดวงสุริยันจันทรทั้งคู่ของแม่เอ่ย แม่ไม่รู้เลยว่าเจ้าจะหนีพระมารดาไปสู่พาราใดไม่รู้ที่
๒. พระคุณเอ่ยถึงพระองค์จะสงสัย ก็น้ำใจของมัทรีนี้กตเวทีเป็นไม้เท้าก้าวสู่ที่ทางทดแทนอุปมาแม้นเหมือนสีดาอันภักดีต่อสามีรามบัณฑิต
๓. เมื่อแรกจากไอศวรรย์มาอยู่ดงก็ปลงจิตไม่ได้คิดเป็นสอง หวังจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว
๔. ข้าพระบาทนี่ร้อนรนไม่หยุดหย่อนแต่สักอย่าง แต่เดินมาก็บังเกิดประหลาดลางขึ้นกลางพนาลี
๒๖. “คือนางไหนอันสนิทชิดใช้แต่ก่อนกาล ยังจะติดตามพระราชสมภารมาบ้างละหรือ ได้แต่มัทรีที่แสนดื้อผู้เดียวดอก ไม่รู้จักปลิ้นปลอกพลิกไพล่เอาตัวหนี”
แสดงอารมณ์ใดของพระนางมัทรี
๑. เศร้าใจ ๒. โกรธแค้น
๓. ท้อใจ ๔. เจ็บใจ
๒๗. ข้อใดไม่มีคำไวพจน์
๑. อนึ่งพระสุริยศรีก็เย็นยํ่าสนธยาสายัณห์แล้ว
๒. เป็นเวลาพระลูกแก้วอยากนมกำหนดเสวย
๓. พระพี่เจ้าของน้องเอ๋ยทั้งสามราขอเชิญกลับไปยังรัตนคูหาห้องแก้ว
๔. อนึ่งน้องจะแบ่งปันผลไม้ให้สักกึ่ง ครึ่งหนึ่งนั้นน้องจะขอไปฝากพระหลานน้อยๆ ทั้งสองรา
๒๘. “สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะรํ่าเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่เยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด”
ศิลปะการประพันธ์ข้อใดไม่ปรากฏในคำประพันธ์นี้
๑. การใช้โวหารภาพพจน์ ๒. การพรรณนาให้เกิดความสะเทือนใจ
๓. การเล่นอักษรสัมผัส ๔. การเล่นคำ
๒๙. ข้อใดดีเด่นด้านการเล่นเสียงและคำซ้ำ
๑. แสงพระจันทร์ดั้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังให้ไหลลงหยดย้อย เหมือนหนึ่งน้ำพลอยพร้อยๆ อยู่พรายๆ
๒. ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร
๓. สะดุ้งพระทัยไหวหวาดวะหวีดวิ่งวนแวะเข้าข้างทาง
๔. ทุกห้วยธารละหานเหินเหวหุบห้องคูหาวาส
๓๐. ข้อใดปรากฏโวหารสัทพจน์
๑. ทั้งนกหกก็งัวเงียเหงาเงียบทุกรวงรัง
๒. สมเด็จอรไทเธอเที่ยงตะโกนกู่กู๋ก้อง
๓. พระพายรำเพยพัดมาฉิวเฉื่อย
๔. พระพักตร์เธอฟูมฟองไปด้วยน้ำพระเนตร